การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ โควิด 19 เริ่มทวีความรุนแรงกระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ทุกประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อ และยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในหลายมิติอันเกี่ยวเนื่องกับ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ส่งผลให้ ณ วันนี้ มีผู้ป่วยสะสมแล้ว ณ วันนี้ เกือบ 1 ล้านคน และเสียชีวิตสูงถึง 8,285 คน
“ในหลวง” ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด 19อย่างใกล้ชิด พระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อีกทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสมทบทุนและจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาด และควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย และทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการดูแลสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ได้พระราชทานความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์พสกนิกร
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มีพระราชดำรัสเพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า “เครื่องมือที่ใช้ต่างๆ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ แต่หลักๆ ก็มาจากคน อะไรที่สำคัญในคนก็คือทัศนคติที่ดี เข้าใจปัญหา มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เมื่อมีเครื่องมือเครื่องใช้มาสนับสนุน ก็ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกจุด ใช้ให้เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะเสริมในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”
พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ ทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายให้เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจให้ทั่วถึง และได้พระราชทานเครื่องช่วยหายใจ ในโครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน ตั้งแต่ห้วงของการแพร่ระบาดระลอกแรก จนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว 488 เครื่อง ให้แก่โรงพยาบาล 123 แห่ง ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
จัดสร้างรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก
พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อ เพื่อควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที จึงมีพระบรมราโชบายให้จัดสร้างรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย เพื่อใช้ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พระราชทานรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย รวมแล้วทั้งสิ้น 36 คัน
อีกทั้ง ยังได้พระราชทาน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน สำหรับใช้งานคู่กับรถชีวนิรภัย มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่พร้อมกับเครื่องมือที่จำเป็นติดตั้งภายในรถ ด้วยสมรรถนะที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ทำให้สามารถทราบผลตรวจได้ภายใน 3 ชั่วโมง สามารถตรวจได้ 800-1,000 ตัวอย่าง/วัน ช่วยค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
ทรงให้จัดสร้างรถเอกซเรย์ ระบบดิจิทัลขึ้น จำนวน 2 คัน เป็นรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลคันแรกในประเทศไทย ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์ สามารถส่งข้อมูลวินิจฉัยของผู้ป่วย ผ่านสัญญาณระบบ 5G ให้แพทย์ช่วยทำการวิเคราะห์ ประเมินคัดกรองผู้ป่วยผ่านจอมอร์นิเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเอกซเรย์แบบเคลื่อนที่ จำนวน 30 เครื่อง ที่สามารถนำไปใช้ตรวจในพื้นที่ภาคสนามได้อีกด้วย โดยนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ลงพื้นที่ตรวจผู้ติดเชื้อเชิงรุกให้ประชาชนแล้วกว่า 630,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สร้างห้องตรวจหาเชื้อ Modular Swab Unit ให้กับ รพ. 20 แห่งทั่วประเทศ
พร้อมกันนี้ ยังได้พระราชทานพระราชดำริในการสร้างห้องตรวจหาเชื้อให้กับโรงพยาบาลต่างๆ โดยบริษัทเอสซีจีดำเนินการสร้างห้องตรวจหาเชื้อ Modular Swab Unit ให้กับโรงพยาบาล 20 แห่งทั่วประเทศ มีคุณลักษณะพิเศษ คือ เป็นห้องมีที่ระบบควบคุมแรงดัน และคุณภาพอากาศที่เหมาะสม ช่วยป้องกันทีมแพทย์ที่อยู่ในห้องตรวจจากผู้ที่มาเข้ารับบริการใช้จ่าย เพิ่มความรวดเร็วในการค้นหาผู้ป่วย ณ จุดที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
ในการนี้ พระราชทานห้องความดันลบ จำนวน 2 ห้อง ให้กับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งห้องความดันลบเคลื่อนที่ จำนวน 10 ห้อง ให้กับโรงพยาบาลบางขุนเทียน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ใช้แยกผู้ป่วยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายขอเชื้อโรคจากห้องไปสู่บริเวณภายนอกอื่นๆ ในสถานพยาบาลได้ และห้องความดันลบเคลื่อนที่ยังสามารถนำไปใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามได้
พระราชทานชุด PPE กว่า 704,000 ชุด
และเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย ได้พระราชทานชุด PPE กว่า 704,000 ชุด พระราชทานชุด PAPR จำนวน 624 ชุด เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สวมใส่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัด ห้อง ICU โดยเฉพาะ
พระราชทานถุงยังชีพ กว่า 188,266 ถุง
ในสถานการณ์ครั้งนี้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของพสกนิกร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้พระราชทานถุงยังชีพให้กับประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวม 188,266 ถุง รวม 659 ชุมชน กว่า 130,000 ครัวเรือน และได้พระราชทานยาฟ้าทะลายโจรพระราชทานให้แก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จำนวน 2,000 ขวด
พระราชทานอาหารปรุงสุกใหม่ แก่บุคลากรทางการแพทย์
ด้วยทรงห่วงใยและทรงให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละกำลังกาย และอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาหารปรุงสุกใหม่ แก่บุคลากรทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามต่างๆ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้วยการทรงประกอบอาหารพระราชทานด้วยพระองค์เอง อาทิ เมนูก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นลูกชิ้น ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระเครื่องยาจีน ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟลูกชิ้นเห็ดหอม ข้าวซี่โครงหมูอบกระชายขาวยอดผัก ไข่เจียวหมูสับกระชายซอย คั่วกลิ้งไก่กระชายขาว ลาบเหนือคั่วกระชาย ซึ่งล้วนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย
พระราชทานทรัพย์ ส่วนพระองค์
1.พระราชทานทรัพย์ จำนวน 100,000,000 บาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช
2.พระราชทานทรัพย์ จำนวน 2,407,144,487.59 บาท แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์ และสถานพยาบาล 27 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
3.พระราชทานทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่เรือนจำ ทัณฑสภาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์
4. ฯลฯ อื่นๆ
มิใช่เพียงสถานการณ์โควิด-19 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร ไม่ว่าพสกนิกรจะทุกข์ร้อนเรื่องอันใด น้ำพระราชหฤทัยจะแผ่ไปอย่างทั่วถึงทั้งแผ่นดิน นำมาซึ่งขวัญกำลังใจแก่ประชาชนคนไทยอย่างทั่วหน้า
(ทีมข่าวท็อปนิวส์ ขอบคุณข้อมูล จากเว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์, เว็บไซต์พระลาน โดยกรมประชาสัมพันธ์ เพจมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเพจจิตอาสาพระราชทาน)