บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับสากล สานต่อความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร “มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน” (Labour Protection Network Foundation: LPN) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน และจัดอบรมพนักงาน ย้ำความมุ่งมั่นในการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สร้างความเชื่อมั่นในองค์กร ต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ แรงงานเด็ก และแรงงานบังคับตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ตั้งแต่ปี 2560 จากการพัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียนผ่านการจัดตั้งศูนย์รับฟังเสียงสะท้อนของพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” และการอบรมพนักงานสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลและปฏิบัติต่อพนักงานของซีพีเอฟที่มีความหลากหลายและแตกต่างในประเด็นสัญชาติ ภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ เพศสภาพ อายุ สรีระทางกายภาพ เป็นต้น ช่วยสนับสนุนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในการปกป้องคุ้มครองพนักงานในทุกระดับ เคารพในความหลากหลาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ยอมรับความแตกต่าง ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรการมีส่วนร่วม ช่วยลดความเสี่ยงการล่วงละเมิดหรือการคุกคามในทุกรูปแบบ ตลอดจนป้องกันการใช้แรงงานบังคับ แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็กไม่ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรและห่วงโซ่อุปทาน
“มูลนิธิ LPN เป็นพันธมิตรที่มีส่วนสนับสนุนให้ซีพีเอฟเป็นองค์กรที่มีความโดดเด่นในเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานที่มีความหลากหลายอย่างเท่าเทียม สร้างบรรยากาศในการทำงานให้มีความเคารพซึ่งกันและกัน สอดคล้องกับนโยบายการบริหารความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง (Diversity and Inclusion Policy) ช่วยให้พนักงานทุกคนของบริษัท โดยเฉพาะพนักงานต่างชาติสามารถทำงานและดำรงชีวิตในประเทศไทยได้อย่างมีความสุข” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว
นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ซีพีเอฟและมูลนิธิ LPN ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงทำงานร่วมกันจัดตั้งศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” เป็นช่องทางรับฟังเสียงสะท้อนและความคิดเห็นของพนักงานซึ่งดำเนินงานโดยองค์กรกลางภายนอก (Neutral organization) ในทุกภาษาที่พนักงานเข้าใจ ทั้งภาษาไทย กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งช่วยให้บริษัทได้รับทราบถึงปัญหาหรือข้อเสนอแนะของพนักงานและนำไปปรับปรุงและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว เป็นการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติด้านแรงงานบนพื้นฐานความเท่าเทียม และป้องกันปัญหาการจ้างแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ แรงงานเด็ก และการค้ามนุษย์ ที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการสรรหาและจ้างแรงงานต่างชาติ ตลอดจนป้องกันปัญหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน มูลนิธิ LPN ยังจัดการอบรมพนักงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟทั่วประเทศให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงสิทธิของตนเองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมาตรฐานแรงงานสากล ความปลอดภัยในการทำงาน รวมถึงวัฒนธรรมไทยเพื่อช่วยให้พนักงานต่างชาติสามารถปรับตัวกับชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยได้ดี ช่วยให้การทำงานร่วมกันมีความราบรื่น ซึ่งซีพีเอฟยังได้แบ่งปันและถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานให้แก่คู่ค้าและเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย ซึ่งตลอด 5 ปีที่ผ่านมามูลนิธิ LPN ได้จัดอบรมพนักงานในสถานประกอบการทั่วประเทศแล้ว 91 รุ่น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ LPN ยังจัดกิจกรรมเข้าเยี่ยมและพูดคุยอย่างเป็นกันเองถึงหอพักของพนักงานต่างชาติ (Focus Group) เพื่อรับฟังเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และเพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการจัดจ้างแรงงานต่างชาติตั้งแต่ประเทศต้นทางมีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรบนพื้นฐานบรรษัทภิบาลที่ดี สร้างมาตรฐานองค์กรที่สนับสนุนการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน