นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของป่าชายเลนและหญ้าทะเล บริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน และความร่วมมือเพื่อผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว นำร่องจังหวัดกระบี่ เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องและสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายของไทยที่ได้ประกาศไว้ ในการมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2608
“บิ๊กตู่” หนุน "จังหวัดกระบี่" นำร่องเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ข่าวที่น่าสนใจ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) ของป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ รวมถึงที่ได้รับการฟื้นฟูบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามัน พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Capacity Building สร้างจิตสำนึกให้แก่ชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงคาร์บอนร่วมกับเทคนิคการรับรู้ระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดเครือข่ายอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน ด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศและจังหวัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อน Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 พร้อมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2583 เป็นจังหวัดแรกของไทย โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถการจัดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้หน่วยงาน ผู้ประกอบการ ชุมชน นักท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยตามแนวนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ คำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโลกตระหนักดีถึงความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยประเทศไทยมีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งในเวทีโลกที่แสดงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหานี้อย่างสมดุล ยั่งยืน พร้อมกันนี้ รัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้อง พร้อมบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการตระหนักรู้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมกับนโยบายที่เหมาะสมของรัฐบาล จะช่วยสนับสนุนให้ไทยสามารถบรรลุตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน” นายอนุชาฯ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง