วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha หัวข้อ “เดินวันละ 10,000 ก้าว – ของจริงหรือมั่วนิ่ม”ระบุว่า การเดินวันละ 10,000 ก้าว กลายเป็นคติประจำใจและสิ่งที่ต้องทำที่ดูเหมือนว่าคนไทยทุกคนจะรับทราบและพยายามทำกันมาตลอด ตลอดจนมีโฆษณาต่าง ๆ ทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คติวันละ 10,000 มีที่มาอย่างไร มาจากไหน มีข้อพิสูจน์หรือไม่
การวิเคราะห์ความจริงและที่มาเหล่านี้ มาจากคุณหมอ Christopher Labos ซึ่งเป็นหมอหัวใจและทำทางด้านระบาดวิทยา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เป็นวิทยาทานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ทางวารสาร วิทยุและโทรทัศน์ที่มอนทรีออล แคนาดา และบทความนี้ เผยแพร่ทาง เมดสเคป ในวันที่ 21 มีนาคมปี 2022 ที่มาของวันละ 10,000 ก้าว เริ่มจากบริษัทญี่ปุ่น Yamasa Tokkei เริ่มขายและจำหน่ายเครื่องออกกำลังแบบนับเก้า ตั้งแต่ ปี 1965 โดยตั้งชื่อว่า manpo-kei แปลว่า ตัวจับวัด 10,000 ก้าว และพร้อมกันนั้น ก็มีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ โดยออกมาเป็นแคมเปญ รณรงค์ให้มาเดินวันละ 10,000 ก้าวกันดีกว่า ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้มีความกระหาย อยากที่จะแข็งแรงเสริมสร้างสุขภาพ ถึงแม้ว่าตัวเลขนี้ที่มายังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็ได้ผลในการสร้างแรงบันดาลใจให้มีการออกกำลังของประชาชนทั่วไปทั้งหมด ไม่จำกัดอายุ และเพศ
ทั้งนี้จำนวนก้าวดังกล่าว จะได้ผลลัพธ์ประมาณกับการเดินเคลื่อนไหวการทำงานออกกำลังในแต่ละวัน โดยปกติ คนทั่วไปก็มักจะมีการเคลื่อนไหวก้าวเดินอยู่ระหว่าง 5000 ถึง 7500 ก้าว ในแต่ละวันอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเพิ่มการเดินขึ้นอีกประมาณ 30 นาทีต่อวันก็จะได้เพิ่มเสริมเติมขึ้นมาอีก 3000 ถึง 4000 ก้าว จนกระทั่งใกล้เคียง 10,000 การตั้งเป้านี้ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็ไม่น่าผิดอะไรและจำง่ายและเกิดแรงบันดาลให้ถึงเป้าหมายทุกวัน