How to ปกป้องลูกน้อยจาก "3 โรคหน้าฝน" เช็คด่วน 5 อุปกรณ์สำคัญที่ผู้ปกครองควรเตรียมพร้อมไว้ในฤดูนี้
ข่าวที่น่าสนใจ
“3 โรคหน้าฝน” โรคติดเชื้อที่พบบ่อยในเด็ก
ไข้หวัดใหญ่
- พบได้ตลอดปีและพบได้บ่อยในฤดูฝน ติดต่อกันได้ทางการหายใจ เมื่อไอหรือจามเชื้อจะเข้าทางจมูกหรือปาก ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ คัดจมูกน้ำมูกไหล ไอ จาม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย
วิธีป้องกัน
- รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดผู้ที่ป่วย และสถานที่ที่คนหนาแน่น
- เด็กที่เป็นไข้หวัดใหญ่ควรให้หยุดไปโรงเรียน รักษาตัว
- สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
- รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
มือ เท้า ปาก
- พบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส อุจจาระ หรือสัมผัสทางอ้อมผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ เจ็บปาก มีแผลตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม ผื่นแดง หรือตุ่ม โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า
วิธีป้องกัน
- แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสบู่ และรีบล้างมือให้สะอาดโดยเร็วเมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลาย เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือเสื้อผ้ามีการเปื้อนอุจจาระ
- ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
- หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก เครื่องใช้และสิ่งแวดล้อมที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป
- รับวัคซีนป้องกันโรค มือ เท้า ปาก สายพันธุ์ 71 ป้องกันการติดเชื้อ Enterovirus 71 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรครุนแรง (แต่วัคซีนไม่สามารถป้องกันไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้เกิดโรค มือ เท้า ปาก ได้) ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี 11 เดือน โดยฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 1 เดือน
ไข้เลือดออก
- เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งยุงเหล่านี้มักเพาะพันธุ์ตามแหล่งน้ำขังและพบมากในช่วงฤดูฝน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงลอย หน้าแดง ปวดกล้ามเนื้อ บางรายปวดท้อง อาเจียน
วิธีป้องกัน
- ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อและกางเกงขายาว ฉีดสเปรย์หรือทายากันยุงเมื่อต้องออกนอกบ้าน
- ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้าน รวมทั้งบริเวณรอบ ๆ บ้าน เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง กำจัดภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดฝาโอ่งให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่
5 สิ่งเตรียมพร้อมปกป้องวัยซนในช่วงหน้าฝน
หมวก
- ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งควรให้ลูกสวมหมวกจนเป็นนิสัย โดยหมวกนั้นต้องสวมใส่สบาย สามารถป้องกันได้ทั้งแดดและฝน
ร่ม
- เลือกรูปแบบที่มีสีสันลวดลายน่ารักดึงดูดใจเด็ก ๆ แล้ว โดยอาจเลือกร่มแบบพับ ซึ่งจะได้สะดวกต่อการจัดเก็บใส่กระเป๋า กันยูวีได้ เพื่อใช้ได้ทั้งหน้าร้อนและหน้าฝน
ชุดกันฝน
- อีกหนึ่งไอเท็มที่ควรมีติดไว้ในกระเป๋าของลูก เพื่อความสะดวกเมื่อจำเป็นต้องใช้งาน โดยอาจให้ลูกเลือกรูปแบบหรือสีที่ชอบตามใจ
ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าผืนเล็ก
- เมื่อเวลาไอ จาม ควรมีผ้าเช็ดหน้าปิดปากป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ถุงพลาสติก
- พับพกติดตัวไว้ เมื่อฝนตกถุงพลาสติกสามารถจะช่วยป้องกันน้ำไม่ให้ข้าวของเครื่องใช้เสียหาย หรืออาจสวมเป็นหมวกป้องกันก็ยังได้
ข้อมูลเพิ่มเติม : Siriraj Piyamaharajkarun Hospital
ข่าวที่เกี่ยวข้อง