ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” ระบุว่า คุณนักข่าวโทรมาถามเรื่องการค้นหาเรือไททัน จึงนำมาสรุปให้เพื่อนธรณ์ครับ
การช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนง่ายๆ 1) หาให้เจอว่าเรืออยู่ไหน 2) เมื่อเจอแล้วหาทางช่วย ตอนนี้เรายังอยู่แค่ขั้นตอนแรก เรือจะอยู่ใน 3 บริเวณ บนผิวน้ำ กลางน้ำ และบนพื้น
บนผิวน้ำ – ใช้เครื่องบินตามหา ซึ่งตอนนี้ก็เป็นงานหลักที่ทำกันอยู่ แต่พื้นที่หาอยู่ไกลฝั่งเป็นกลางมหาสมุทร ใช้เวลาเดินทางนาน พื้นที่ค้นหาตอนนี้ประมาณ 20,000 ตร.กม. (ใหญ่กว่ากรุงเทพเกือบ 13 เท่า) ยังไม่พบอะไร
กลางน้ำ – หมายถึงมวลน้ำ 3,700 เมตร ไม่โผล่บนผิวแต่ลอยอยู่ลึกลงไปไม่กี่เมตรก็มองไม่เห็นจากเครื่องบินแล้ว กลางน้ำคือเรื่องยุ่งยากมาก เพราะ Titan ไม่ใช่เรือดำน้ำ (submarine) แต่เป็นยานสำรวจทะเลลึก (submersible) ยานสำรวจมีเครื่องยนต์และอุปกรณ์น้อยกว่า ต้องพึ่งพาเรือแม่เป็นหลัก การวิ่งไปมาใต้น้ำไม่ได้ทำง่ายๆ อีกทั้งแบตเตอรี่ก็มีจำกัด ตอนนี้เรือค้นหา/เครื่องบิน ใช้การหย่อนโซนาร์และการรับฟังเสียงใต้น้ำ เพราะการสื่อสารอื่นๆ ทำไม่ได้ เช่น วิทยุ ฯลฯ ปัญหาอีกประการคือไททันไม่มีอุปกรณ์นำร่อง ไม่มี GPS หากล่องลอยไปกลางน้ำ คนบนเรือก็ไม่ทราบว่าตัวเองอยู่ที่ไหน
บนพื้น – ความลึกคืออุปสรรคสำคัญ เพราะที่ลึก 3,700 เมตร ความกดดันสูงมากจนเรือดำน้ำปรกติลงไปไม่ได้ ยังมืดสนิทเพราะแสงส่องลงไปในทะเลได้แค่ 200 เมตร ที่ลึกกว่านั้นหรือบนพื้นจึงไม่มีแสงใดๆ หรือแม้จะส่องแสงไฟจากเรือก็มองเห็นได้แค่ไม่กี่เมตรเพราะแสงถูกน้ำดูดกลืน