นักโบราณคดีพบ กระดูกมนุษย์สมัยใหม่ หรือ "โฮโม เซเปียนส์" อายุกว่า 86,000 ปี ในลาว เป็นฟอสซิลของมนุษย์ปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข่าวที่น่าสนใจ
การค้นพบในครั้งนี้ พบในถ้ำผาลิง ซึ่งอยู่สูงประมาณ 1,170 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลบนภูเขาทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยนักโบราณคดีพบชิ้นส่วนกะโหลก และกระดูกหน้าแข้ง รายงานผลการศึกษาตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าชิ้นส่วนกระดูกน่าจะโดนพัดเข้ามาในถ้ำช่วงมรสุม แม้ชิ้นส่วนจะแตกหักและไม่สมบูรณ์ แต่ก็เพียงพอให้นักวิทยาศาสตร์เปรียบเทียบขนาดและรูปร่างกับมนุษย์สายพันธุ์อื่น ๆ
ซึ่งพบว่า มีความใกล้เคียงกับมนุษย์ “โฮโม เซเปียนส์” มากที่สุด มากกว่ามนุษย์โบราณอื่น ๆ เช่น
- โฮโมอีเรคตัส
- นีแอนเดอร์ทัล
- หรือเดนิโซแวน
จากการตรวจสอบพบว่า ชิ้นส่วนกะโหลกมีอายุประมาณ 73,000 ปี ส่วนกระดูกหน้าแข้งมีอายุประมาณ 86,000 ปี การค้นพบในครั้งนี้ ช่วยตอบคำถามในประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงมานานหลายทศวรรษเกี่ยวกับระยะเวลาที่ “โฮโมเซเปียนส์” อพยพมาถึงเอเชีย
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้น่าจะเป็นเส้นทางสำคัญที่มนุษย์สมัยใหม่เดินทางต่อไปออสเตรเลีย เป็นไปได้ว่ากลุ่มคนนี้มีความเชื่อมโยงกับชาวเกาะสุมาตราเมื่อประมาณ 68,000 ปีก่อน และอาจเกี่ยวข้องกับคนที่สร้างเครื่องมือในออสเตรเลียในช่วงเวลาเดียวกัน
การศึกษาทางพันธุกรรมของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่าพวกเขาแยกตัวออกจากชาวแอฟริกันเมื่อไม่นานมานี้ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวยุโรปและชาวอเมริกันพื้นเมืองแยกจากกัน
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญบางส่วนไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า โฮโมเซเปียนส์ น่าจะเป็นกลุ่มที่อพยพล้มเหลวมากกว่า และดูเหมือนจะไม่มีลูกหลานที่รอดชีวิต ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวในการขยายเผ่าพันธุ์ออกไป ประกอบกับงานวิจัยทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้ และข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับเครื่องมือทั้งหมดชี้ว่า มาจากกลุ่มที่อพยพออกจากแอฟริกาครั้งเดียวเมื่อ 60,000 ปีที่แล้ว
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การขยายเผ่าในครั้งนี้ล้มเหลว หรือหายไปนั้น ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์ที่พบในเอเชีย ซึ่งยังคงมีความซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก
ข้อมูล : livescience และ iflscience
ข่าวที่เกี่ยวข้อง