ล้ำไปอีกขั้น บ.StartUp ปิ๊งไอเดียสร้างพลังงานทดแทน ด้วยการติดแผง "solar cell" ถอดออกได้บนพื้นที่ว่างในรางรถไฟ
ข่าวที่น่าสนใจ
ครั้งแรกของโลกกับการพัฒนาระบบ “solar cell” ถอดออกได้ หลัง Sun-Ways บริษัท StarUp สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใกล้กับสถานีรถไฟ Buttes เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปต่างออกมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ซึ่งรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เร่งมือแข่งขันและพัฒนาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งหนึ่งในพลังงานที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ตามถนนข้างทาง อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่การเกษตรในยุโรป ล้วนติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อสร้างพลังงานทดแทน
แต่เดิมระบบรางรถไฟโซลาร์เซลล์มีการคิดค้นอยู่ก่อนแล้วในประเทศเยอรมนี อิตาลี และอังกฤษ แต่ Sun-Ways เป็นบริษัทแรกที่จดสิทธิบัตรแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถถอดออกได้ด้วยความช่วยเหลือของ EPFL ซึ่งเป็นสถาบันเทคโนโลยีของรัฐบาลกลางสวิสในเมืองโลซานน์ ถือเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาล้ำไปอีกขั้น เพราะ แผงโซลาร์เซลล์บนรางรถไฟจำเป็นต้องถอดออก เพื่อตรวจดูความเสถียรของระบบอยู่เสมอ
แผงโซลาร์เซลล์นี้มีขนาดกว้าง 1 เมตร ใส่ลงในช่องว่างระหว่างรางคู่ขนานของทางรถไฟ เหมือนปูพรมแดงให้รถไฟวิ่งผ่านไป ผ่านการออกแบบพิเศษด้วยระบบกลไกลูกสูบที่จะยึดแผงโซลาร์เซลล์ไว้กับรางรถไฟ โดยระบบ “so lar cell” จะส่งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าสู่กริดไฟฟ้า ก่อนจะแจกจ่ายไปตามที่อยู่อาศัย
ระบบแผง “solar cell” สามารถผลิตพลังงานได้เท่าไหร่
- หากวางแผงโซลาร์เซลล์ได้ตลอดเส้นทางรถไฟทั่วสวิตเซอร์แลนด์ เป็นระยะทาง 5,317 กิโลเมตร เทียบกับสนามฟุตบอล 760 สนาม
- จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 1 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี
- ซึ่งคิดเป็น 2% จากพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ ทางบริษัทตั้งเป้าจะขยายธุรกิจไปที่เยอรมนี ออสเตรียและอิตาลีในอนาคต โดย Baptiste Danichert ผู้ร่วมก่อตั้ง Sun-Ways กล่าวว่า “ปัจจุบัน มีเส้นทางรถไฟทั่วโลกมากกว่าล้านกิโลเมตร เราเชื่อว่ากว่าครึ่งของเส้นทางรถไฟทั้งหมดในโลกสามารถใช้ระบบโซลาร์เซลล์ของเราได้”
อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่างที่บริษัทต้องพิสูจน์ เช่น
- ถ้าเกิดรอยแตกเล็ก ๆ เกิดขึ้น อาจเกิดไฟไหม้
- แสงสะท้อนจากแผงโซลาร์เซลล์ ส่งผลต่อทัศนวิสัยของผู้ขับรถไฟ
- ปัญหาน้ำแข็งและหิมะในฤดูหนาว
ซึ่งบริษัท Sun-Ways ได้เผยวิธีแก้ปัญหาจากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า แผงโซลาร์เซลล์ของทางบริษัทมีความแข็งแรงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ทั่วไป มีการใส่ฟิลเตอร์กันเงาสะท้อน ป้องกันปัญหาแสงสะท้อนคนขับรถไฟ ส่วนปัญหาเรื่องหิมะ ทางบริษัทสามารถสร้างระบบละลายน้ำแข็งได้
ข้อมูล : euronews
ข่าวที่เกี่ยวข้อง