การสร้างระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ปกรณ์ นิลประพันธ์

ปกรณ์ นิลประพันธ์

การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลนั้นเป็นเป้าหมายของทุกรัฐบาล ทำกันมาหลายสิบปีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที มีการซื้ออุปกรณ์ไอทีกันเป็นล่ำเป็นสัน จนการพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรต้องจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การใช้งบประมาณด้านไอทีคุ้มค่ามากที่สุด แต่พิจารณากันมาก็หลายปี ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลได้เสียที

กระทั่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 258  ว่ารัฐต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ก็ได้กำหนดให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตลอดกระบวนการอย่างคุ้มค่าและเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ซึ่งทำให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ผู้ถูกกล่าวหาหลักในความไม่สำเร็จในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลคือ “กฎหมาย” กับ “งบประมาณ” ข้อกล่าวหาที่คลาสสิคคือกฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้ หรือไม่ก็งบประมาณไม่มี ถ้าเป็นภาษาเก๋ ๆ หน่อยก็บอกว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่เอื้อ ว่างั้น

ในแง่ระบบนิเวศทางกฎหมาย (Legal Ecosystem) หนุ่มสาวชาวกฤษฎีกาเรามานั่งวิเคราะห์กันแล้ว พบว่าข้อกล่าวหาที่ว่ากฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้นั้น “มีมูล” เพราะถึงจะมีการตั้งกระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว และมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และ governance ด้านดิจิทัลอยู่หลายฉบับ แต่กลับไม่มีกฎหมายใดกล่าวถึง “การปฏิบัติ” ไว้เลย อันนี้ประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง วิธีการทำงานราชการที่ผ่านมายังใช้ระบบ manual เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสารบัญซึ่งเป็นต้นทางของการรับส่งข้อมูล ยังส่งเป็นกระดาษเป็นปึก ๆ กันอยู่เลย ถ้ารับส่งระหว่างหน่วยงานก็ใช้รถส่งบ้าง มอเตอร์ไซด์บ้าง โลกร้อนหนักเข้าไปอีก เพิ่ม carbon footprint ของประเทศโดยปริยาย การรับส่งในหน่วยก็ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่เดินส่งแฟ้มกันไปมา ทั้ง ๆ ที่มีคอมพิวเตอร์กันทุกหน่วยงาน

ที่สำคัญประการที่สามเกี่ยวข้องกับการเขียนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายลำดับรองอันเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บท ยังเขียนแบบโบราณอยู่มาก ใช้ระบบอนุมัติอนุญาตก็มากมายอยู่แล้ว ยังให้มายื่นขออนุมัติอนุญาตด้วยตัวเองอีก มีเรียกสำเนาเอกสารประกอบ ทั้ง ๆ ที่ทางราชการออกเอกสารนั้นให้เอง ฯลฯ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้พัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ขึ้น

สำหรับปัญหาประการที่หนึ่ง สำนักงานฯ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับดำเนินการเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตได้ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มิได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

การแก้ปัญหาประการที่สอง สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อปรับเปลี่ยนให้การปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของรัฐ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน ปัจจุบันระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 แล้ว และหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 นี้ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การทำงานของหน่วยงานของรัฐขับเคลื่อนไปได้โดยไม่ติดขัด

ประการที่สาม สำนักงานฯ ได้ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในการดำเนินการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น สำนักงานฯ ได้กำหนดแนวทางการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่น ให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564) กฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ รองรับการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และกำลังดำเนินการแก้ไขฉบับที่เหลือต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้สำรวจตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม และได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัดและคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดสามารถกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น การใช้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การส่งหนังสือหรือเอกสารทางอีเมลแทนไปรษณีย์ลงทะเบียน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564) และขณะนี้สำนักงานฯ กำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน

ประการสำคัญ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ขึ้นตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมตลอดถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมายด้วย โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565

ก็ไม่มีอะไรครับ พอมีเวลาจึงมาเล่าให้ฟังว่าเราทำอะไรไปบ้างเพื่อพัฒนากฎหมายของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน

“Better Regulation for Better Life”

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"อุตุฯ" เผย "เหนือ-อีสาน-กลาง" อากาศเย็นตอนเช้า เตือนใต้ยังรับมือฝนตก
แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวกำลังพล ห่วงใยไปถึงบ้าน เพราะเราคือครอบครัวกองทัพบก
สวนนงนุชพัทยาเปิดเวที CHONBURI PROUD EXPO 2024 หนุน SMEs ชลบุรีสู่ตลาดโลก
“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น