นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แก้ 112 ลดการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ย้ายหมวด-ลดโทษ-เพิ่มเหตุเว้นผิด/เว้นโทษ-ยอมความได้-จำกัดผู้ร้องทุกข์ ! “มีข้อมูลมีหลายฝ่ายที่ยังเข้าใจผิด เพราะการแก้ไขคือการแก้ไข ไม่ใช่การยกเลิก เท่าที่ได้คุยกับส.ว. ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น การรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 27 มิถุนายน 2566 เมื่อท่านแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีว่ามาอย่างนี้ ก็ขอชวนเชิญมาดูข้อมูลช้า ๆ ชัด ๆ กันอีกครั้งให้สิ้นกระแสความกันไปว่าร่างกฎหมายแก้ไข 112 ภายใต้ฉลาก ‘(แค่)แก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก’ นั้น – เนื้อในคืออะไร ?
ปรับเปลี่ยนอะไร ?
ภาพรวมคือการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถวรฉบับแรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข โดยมีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์
เบื้องต้นเลยคืออาจขัดรัฐธรรมนูญ
ฝ่ายบริหารของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ววินิจฉัยตั้งแต่ปี 2564 ว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จึงไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระและส่งคืนผู้เสนอ
รัฐธรรมนูญมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า…
“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”
ข้อเสนอปรับเปลี่ยนของพรรคก้าวไกลจะ ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ หรือไม่ ความเห็นของแต่ละคนแตกต่างกันได้ ตราบใดที่องค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นที่สุดและมีผลผูกพันทุกองค์กรยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาด จึงใช้คำว่า ‘อาจ’ นำหน้าไว้ แต่เรื่องปรับเปลี่ยนโดย ‘ลดระดับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์’ นั้นปรากฎชัดเจนในร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 135/5 – 135/9 ตามปรากฎอยู่ในภาพประกอบหน้า 1 และ 2
พอสรุปเป็นคำสำคัญได้ดังนี้
“ย้ายหมวด – ลดโทษ – เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด/ไม่ต้องรับโทษ – ยอมความได้ – ให้สำนักพระราชวังร้องแทน”
ขยายความได้เป็น 6 ประการดังนี้
1. นำออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ
2. ลดโทษจำคุกลงต่ำเหลือไม่เกิน 1 ปี
3. ถ้าทำโดยเจตนาบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ประการ ไม่ถือว่าเป็นความผิด
4. ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ
5. ให้เป็นความผิดที่ยอมความได้
6. จำกัดผู้แจ้งความดำเนินคดี
การนำมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในประมวลกฎหมายอาญาเป็นประเด็นหลักที่ต้องถกกันเป็นเบื้องต้น เพราะนี่คือกฎหมายลำดับรองที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาตรา 6 มีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติ นี่คือกระดุมเม็ดแรกที่ผู้ร่างจงใจกลัดเสียใหม่ให้ผิดไปจากหลักเดิม ทำให้เม็ดต่อ ๆ มาผิดตาม เพราะเมื่อลดสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดาเสียแล้ว ก็ไปนำ ‘หลักการทั่วไป’ ของโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาในประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยเหตุไม่เป็นความผิดและไม่ต้องรับโทษมาใช้กับพระองค์ และกำหนดหลักการเพิ่มให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน
การกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์แทน และให้เป็นผู้เสียหาย ในทางปฏิบัติก็เสมือนกับการนำองค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่กรณีโดยตรงกับประชาชนอยู่ดี เพราะสำนักพระราชวังเป็นส่วนราชการในพระองค์ การจัดระเบียบและการบริหารเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560