นับถอยหลัง ศึกชิงปธ.สภาฯ เกมในมือใคร

นับถอยหลังเส้นตาย 48 ชั่วโมงศึกชิงตำแหน่งตำแหน่งประธานสภาฯเพื่อไทย-ก้าวไกลไม่มีวันได้ข้อยุติหลังการประชุม 8 พรรคการเมืองปิดจ็อบไม่ได้ เจาะลึกเกมในมือเพื่อไทยถือแต้มต่อเหนือก้าวไกล จับตาฉันทามติ 40 เสียงพลังประชารัฐ พร้อมท่าที “ลุงป้อม-ธรรมนัส” จับมือเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วหรือไม่

 

การประชุม 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 จบลงไปตามความคาดหมายเหมือนที่ผ่านมาทุกครั้งเช่นเคย คือ การช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาฯระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถได้ข้อยุติเช่นเดิม ซึ่งขณะนี้ทั้งสองพรรคเหลือเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงในการนับถอยหลังเพื่อสะสางเรื่องดังกล่าวให้จบสิ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันเสนอชื่อประธานสภาฯหลังจากรัฐพิธีเปิดสภาในวันที่ 3 กรกฎาคม 2566

 

 

ทั้งนี้การประชุม 8 พรรคการเมืองที่ผ่านมาปรากฎร่องรอยของความขัดแย้งระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย โดยเฉพาะการแถลงข่าวของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมาระบุว่า วันนี้ยังไม่มีการหารือเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องรอให้พรรคเพื่อไทยได้ประชุมเพื่อหาข้อยุติในวันที่ 3 ก.ค.นี้ก่อน แต่มั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปที่ดีและสามารถจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคต่อไปได้ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามในประเด็นหากพรรคเพื่อไทยยอมให้ประธานสภา และหากนายพิธาไม่ผ่านส.ว. จะให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่นั้น นายพิธาไม่ได้ตอบคำถามนี้ก่อนจะอ้างว่า ขอโฟกัสเรื่องนี้ก่อน ไม่อยากเปิดประเด็นใหม่

ข่าวที่น่าสนใจ

 

เช่นเดียวกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ออกยืนยันว่า คณะเจรจา 2 ฝ่าย ได้แจ้งความคืบหน้าในการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการให้ที่ประชุมรับทราบ แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีกระบวนการทำงานหลากหลายของคนที่มาทำงานร่วมกันมากมาย และมีความเห็นต่างมากกับการทำงานภายในพรรคที่ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค ซึ่งเป็นกระบวนการภายใน และเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องฟังความเห็นของสมาชิกพรรค เราจึงแจ้งต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ว่าจะต้องมีการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของพรรคเพื่อไทย เป็นการภายในในวันที่ 3 ก.ค.นี้

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกล่าวได้ว่าตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” จะไม่มีทางปิดจ็อบได้อย่างแน่นอน โดยที่สามารถบอกว่าการช่วงชิงประธานสภาฯจะไม่มีวันได้ข้อยุติก็คือ ท่าทีของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึง ณ เวลานี้เป็นสิ่งที่บอกชัดเจนได้ว่าทั้งคู่ “ยอมหักไม่ยอมงอ” โดยเฉพาะข้ออ้างล่าสุดของหมอชลน่านที่ออกมาพูดถึงกระบวนการภายในพรรคเพื่อไทยที่มีการทำงานหลากหลาย และมีความเห็นต่างมากกับการทำงานภายในพรรคที่ต้องอาศัยข้อบังคับพรรค หรือแม้กระทั่งกรณีพรรคก้าวไกลมีมติความเห็นเสนอชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล เป็นประธานสภาฯ ซึ่งการส่งนายปดิพัทธ์เข้าประกวดย่อมถือเป็นการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่า “ก้าวไกล” พร้อมสู้

 

 

ถอดรหัสการเมืองตอนนี้เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเล่นเกมบีบพรรคก้าวไกลไปจนสุดทาง เพราะรู้ดีกว่าถือไพ่ในมือเหนือกว่าทุกประตู โดยเฉพาะสถานการณ์ของนายพิธา และพรรคก้าวไกลถือว่าลูกผีลูกคน ไม่ว่าจะเป็นคำร้องเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส.กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาที่ กกต.กำลังเร่งสอบสวนตามความผิดตามมาตรา 151 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และหากกกต.เห็นว่านายพิธากระทำผิดจริงก็จะส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย และหากทำผิดจริงนายพิธาต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ตามด้วการถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี และถูกริบเงินเดือนั้หมด

 

นอกจากนี้ยังมีคำร้องของนายเรืองไกร กิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่ส่งเรื่องให้กกต. พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธาสิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ซึ่งเรื่องนี้หากเรื่องไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใด นายพิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากศาลรัฐธรรมญูฯเห็นว่าปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่านายพิธามีพฤติกรรมตามคำร้องไปจนกว่าจะมีคําวินิจฉัย และหากศาลวินิจฉัยว่ากระทำผิดจริงนายพิธาต้องพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.ตั้งแต่วันที่หยุดหน้าที่

ขณะเดียวกันยังมีคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นขอให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธาและพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ…. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49

 

ที่สำคัญยังมีขวากหนามสำคัญที่เพื่อไทยและก้าวไกลตระหนักดีว่า นายพิธาจะไม่มีวันผ่านกระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรีที่ต้องฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ในการยกมือสนับสนุนเพื่อให้ได้เสียงของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภารวมกันเกินกึ่งหนึ่งด้วยจำนวน 376 เสียง ซึ่งตรงนี้เป็นที่แน่ชัดว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะไม่ยกมือให้นายพิธา เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งหากนายพิธาไม่ผ่านกระบวนการนี้จึงเท่ากับว่าตกสวรรค์ตั้งแต่เริ่มต้น

 

จากกระดานการเมืองที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ทั้งเพื่อไทย และก้าวไกลรู้ดีว่า ประธานสภาฯเป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องยึดไว้ให้ได้ เพราะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญประธานสภาฯเป็นผู้ทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้เพียงคนเดียวเท่านั้น อีกทั้งเป็นผู้กำหนดวาระต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายต่าง ๆ ที่จะนำเข้าสู่สภา ดังนั้นการได้ตำแน่งประธานสภาฯจึงเป็นสิ่งที่ทั้งสองพรรคจะพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะมันคือ “แก้วสารพัดนึก” หากตกอยู่ในมือของใคร

 

ขณะเดียวกันต้องจับสถานการณ์อีกด้านหนึ่งที่อาจเป็นตัวสอดแทรกทำให้การเมืองไทยอาจพลิกผันข้ามขั้ว เพราะในวันเดียวกันที่ 8 พรรคการเมืองนัดประชุมเพื่อหาข้อยุติเเรื่องประธานสภาฯ ปรากฎว่า พรรคพลังประชารัฐจัดปฐมนิเทศ ส.ส.ใหม่ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์กรณีการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฏรในทำนองว่า ใครได้เสียงข้างมากในทางการเมืองก็ดำเนินการตามขั้นตอนกันไป อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจกว่าคือเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้วทางการเมืองต่างพรรคจะสามารถจับมือกันได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวเพียงแต่ส่ายหน้าเท่านั้น

 

 

 

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อถูกสื่อมวลชนถามถึงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยร.อ.ธรรมนัส ระบุว่าอย่าไปเน้นกับตัวบุคคลจนกว่าจะเห็นว่า พรรคไหนเสนอใครบ้าง สุดท้ายพล.อ.ประวิตร จะคุยกับกรรมการบริหารพรรคและออกมาเป็นฉันทามติ และ 40 เสียงจะโหวตไปในทิศทางเดียวกันแน่นอน

 

ขณะเดียวกันเมือผู้สื่อข่าวถามถึงการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยและ พลังประชารัฐมีความเป็นไปได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีการพูดคุยหรือมีดีลลับอะไรอย่างที่เป็นข่าว ยังไม่มีข้อเท็จจริงอะไร

 

จับภาษากายของ พล.อ.ประวิตร และ ร.อ.ธรรมนัสที่ออกมาให้สัมภาษณ์โดยไม่ได้ออกมาปฏิเสธหรือยอมรับเรื่องการจับมือกับเพื่อไทยมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า พลังประชารัฐยังเป็นตัวแปรสำคัญที่อยู่ในเกมการจัดตั้งรัฐบาลแบบพลิกข้ามขั้วกับเพื่อไทย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาพลังประชารัฐตกเป็นข่าวในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป และมาถึงวันนี้ข่าวการจับขั้วพลังประชารัฐและเพื่อไทยดูเหมือนจะโหมแรงขึ้นทุกวัน และที่สำคัญตั้งแต่หลังการเลือกตั้งยังไม่มีแกนนำทั้งเพื่อไทยและพลังประชารัฐออกมาปฏิเสธเรื่องการจับขั้วของสองพรรคแต่อย่างใด ดังนั้นจึงต้องจับตามองสถานการณ์ของพลังประชารัฐอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 40 เสียงที่ ร.อ.ธรรมนัสย้ำหนักหนาว่า จะเป็นไปในทางทิศเดียวกันว่า จะเทให้ใคร

 

จากบริบทดังกล่าวจึงเชื่อว่า การประชุมของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 3 กรกฏาคม เพื่อหาข้อยุติในตำแหน่งประธานสภาฯ คงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม เพราะงานนี้เพื่อไทยมีไพ่ในมือให้เล่นได้หลายหน้ามากกว่าก้าวไกลที่ตกเป็นรองอย่างชัดเจน…?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“กฤษอนงค์” สีหน้าเรียบเฉย อมยิ้ม ตร.กองปราบนำตัวฝากขังศาลอาญาเช้านี้
“เศรษฐา” อัดผู้ไม่ประสงค์ดีปั่นกระแส ทำยอดจองห้องพักเกาะกูดลด ชม “รมว.ท่องเที่ยวฯ” ลงพื้นที่ สร้างเชื่อมั่นนทท.
โผล่ลัทธิประหลาด ให้เด็ก-ญาติโยม ที่ไปปฏิบัติธรรม ฝึกเรียนหูทิพย์ ตาทิพย์ นำร่างอาจารย์ใหญ่มาใช้ประกอบกิจกรรม
อดีตสว.วันชัย เชื่อ ‘ทักษิณ’ หวนคืนสนามปราศรัย ไม่มีอะไรฉุดอยู่ เหน็บ ‘พรรคส้ม’ เป็นมือใหม่หัดขับ กระแสนิยมแผ่ว
อิหร่านเตือนอาจขยายโครงการนิวเคลียร์
โป๊ปเรียกร้องสอบอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ชาวบ้านสุดทน ยื่นหนังสือต่อ สว.สุรินทร์ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหากองดิน 2 แสนคิวที่ขุดลอกกองไว้ ทับถมที่นาชาวบ้านเสียหาย ออกไปทำประโยชน์
NGO มาเลเซียรณรงค์ปล่อยตัวสตรีข้ามเพศชาวไทย
ผู้นำสหรัฐฯ-จีนเห็นพ้องให้คนคุมนิวเคลียร์ ไม่ใช่ AI
ย้อนพฤติกรรม “เจ๊พัช” รีดเงินบอส “ดิ ไอคอน” จนนำมาสู่การออกหมายจับ 2 ข้อหาหนัก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น