เปิดประวัติ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ว่าที่ประธานสภาฯ “เพื่อไทย” ส่งชื่อเบียด “หมออ๋อง ก้าวไกล” ตกบัลลังก์

เปิดประวัติ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" ว่าที่ประธานสภาฯ "เพื่อไทย" ส่งชื่อเบียด "หมออ๋อง ก้าวไกล" ตกบัลลังก์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองมุสลิม แกนนำกลุ่มวาดะห์ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า “วันนอร์” เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2 สมัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นอดีต ส.ส. 9 สมัย เคยสังกัดพรรคประชาชน พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ และพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ

 

ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดยะลา จบมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และจบมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกวิทยาศาสตร์ จากโรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512 ต่อมาสำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาโท ครุศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2517

ประวัติการทำงาน

• พ.ศ. 2507 เป็นครูใหญ่โรงเรียนอัตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส

• พ.ศ. 2512 เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา (ในปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา)

• พ.ศ. 2518 อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา และคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

• พ.ศ. 2521 รองอธิการบดี สถาบันราชภัฏสงขลาการเมือง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นแกนนำกลุ่มวาดะห์ เข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค และเป็นผู้นำกลุ่มวาดะห์ แทนนายเด่น โต๊ะมีนา ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ก่อนจะย้ายไปเข้าสังกัดพรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรคความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545 ต่อมาได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และมีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

การดำรงตำแหน่งทางการเมือง

• พ.ศ. 2522 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยแรกในสังกัดพรรคกิจสังคม

• พ.ศ. 2523 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

• พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

• พ.ศ. 2526 มีการยุบสภา ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

• พ.ศ. 2527 ได้ร่วมกับนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “กลุ่มเอกภาพ” (กลุ่มวาดะห์) และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

• พ.ศ. 2531 ได้นำกลุ่มวาดะห์ ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมกับ “กลุ่ม 10 มกรา” ร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 3 ในสังกัดพรรคประชาชน และได้รับเลือกตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

• พ.ศ. 2532 นำพรรคประชาชนยุบรวมกับพรรคก้าวหน้า พรรคกิจประชาคม และพรรครวมไทย เป็นพรรคเอกภาพ

• พ.ศ. 2533 ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ)

• พ.ศ. 2535 ได้นำกลุ่มวาดะห์ เข้าร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร สมัยที่ 4 (จากการเลือกตั้ง 2535/1) และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 5 (จากการเลือกตั้ง 2535/2) รวมทั้งดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1

• พ.ศ. 2537 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (กำกับดูแล กรมที่ดิน) การเคหะแห่งชาติ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค)

• พ.ศ. 2538 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดยะลา สมัยที่ 6 และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดูแลการแก้ไขปัญหาการจราจร

• พ.ศ. 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 7 และได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร/ประธานรัฐสภา (24 พฤศจิกายน 2539 – 27 มิถุนายน 2543) ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

• พ.ศ. 2540 วันที่ 11 ตุลาคม 2540 วันสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้ทูลเกล้าถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นได้นำไปประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันเดียวนั้น จึงมีผลให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไป

• พ.ศ. 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 8 พรรคความหวังใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

• พ.ศ. 2545 สังกัดพรรคไทยรักไทย และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย

• พ.ศ. 2547 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

• พ.ศ. 2548 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 9

 

 

บทบาทประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าแต่งตั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มองว่ารัฐสภาเป็นสถาบันหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะมั่นคงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของประชาชน เท่าที่ผ่านมาความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อรัฐสภานั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าพอใจ อาจเป็นเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจบทบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง คิดว่าเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วทุกอย่างก็จบ ไม่ค่อยมองเห็นบทบาทที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเข้ามาทำงานในสภา ดังนั้น รัฐสภาจึงต้องมีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้แสดงบทบาทตามที่ประชาชนคาดหมาย การประชุมสภาจะต้องกระชับและมีสาระมากกว่าเดิม

ตลอดระยะเวลาในฐานะผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้พยายามที่จะพัฒนาการประชุมสภาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รัฐบาลชุดนี้จึงมีคณะกรรมการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล มีการประชุมทุกวันพุธ เพื่อประสานงานเรื่องระเบียบวาระ และร่วมกันพิจารณาเป้าหมายว่า การประชุมในแต่ละวันจะให้กฎหมายผ่านกี่ฉบับ และแต่ละฉบับน่าจะใช้เวลาอภิปรายกันนานเท่าใด ซึ่งที่ผ่านมาการประชุมสภาก็เรียบร้อยขึ้น และสภามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาประชาชน

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2540 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้กล่าวเตือนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้ามาส่งเสียงรบกวนในห้องประชุม พร้อมประกาศว่า หากไม่เชื่อจะให้เจ้าหน้าที่สภาริบทันที

 

 

ตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา มีทั้งการประชุมรัฐสภาและการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระการประชุมหลากหลาย ทั้งการชี้แจงนโยบายการพิจารณากฎหมาย การพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การพิจารณางบประมาณ ความวุ่นวาย ขัดแย้ง และหวังได้เปรียบกันในการอภิปรายมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่ประธานรัฐสภา หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา สามารถควบคุมบรรยากาศการประชุมให้ผ่านพ้นไปด้วยดีทุกครั้ง จนเป็นที่ยอมรับของสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชน

ภายหลังชื่อเสียงของกลุ่มวาดะห์ ต้องตกต่ำลงอย่างมาก เมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 โดยไม่มีผู้สมัครของทางกลุ่มได้รับเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว ทั้งที่เคยครองพื้นที่อย่างเหนียงแน่นมากว่า 20 ปี ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทย ถูกฟ้องร้องใน “คดียุบพรรค” และต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “ยุบพรรค” พรรคไทยรักไทย และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินทางการเมือง 5 ปี ซึ่งมีผลทำให้นายวันมูหะมัดน์ มะทา หนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ต้องเว้นวรรคทางการเมือง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น