รู้หรือไม่ นอกจาก "7.7" จะเป็นวันช้อปปิ้งเดย์แล้ว ยังเป็นวันทานาบาตะ วันแห่งความรักของญี่ปุ่นอีกด้วย ชวนรู้จักตำนานความรักจากดวงดาว
ข่าวที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ในวันที่ 7 เดือน 7 หรือ “7.7” วันที่หลายคนรอคอยที่จะช้อปปิ้งดีลสุดคุ้ม เป็นวันแห่งความรักของญี่ปุ่น เรียกว่า วันทานาบาตะ (Tanabata / 七夕) เรื่องราวความรักของ หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มดาวบนท้องฟ้า 3 กลุ่ม
- กลุ่มดาวพิณ
- กลุ่มดาวหงส์
- กลุ่มดาวนกอินทรี
นอกจากนี้ ตำนานวันทานาบาตะยังมีต้นกำเนิดมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีนอีกด้วย
เรื่องราวของหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า “7.7”
- กาลครั้งหนึ่ง มีนางฟ้าองค์หนึ่งซึ่งเป็นธิดาของเทพผู้ครองสวรรค์ ชื่อว่า โอริฮิเมะ (Orihime) หรือ เวกา (Vega) นางมีความงดงามและยังขยันขันแข็งในการทำงาน รวมถึงมีฝีมือในการทอผ้าที่ดีมากอีกด้วย
- ทำให้เหล่าเทพทั้งหลายพึงพอใจเป็นอย่างมาก เวลาส่วนใหญ่ของโอริฮิเมะจึงเป็นการนั่งทอผ้า ซึ่งแทบจะไม่ได้หยุดพักเลย ทำให้เทพผู้ครองสวรรค์ผู้เป็นบิดาเป็นห่วงและสงสารธิดาของตนจึงคิดที่จะให้นางมีคู่ครอง
- เทพผู้เป็นบิดาจึงประกาศจัดพิธีเลือกคู่ให้กับโอริฮิเมะ ในพิธีมีเหล่าชายหนุ่มมากมายมาให้โอริฮิเมะเลือก แต่ชายหนุ่มที่โอริฮิเมะถูกใจกลับเป็นเพียงแค่ชายเลี้ยงวัวธรรมดา ๆ เท่านั้น
- ชายหนุ่มคนนี้ชื่อว่าฮิโกโบชิ (Hikoboshi) หรือ อัลแตร์ (Altair) ทั้ง 2 ตกหลุมรักกันตั้งแต่แวบแรกที่สบตากัน
- เทพผู้เป็นบิดาเห็นว่าทั้งสองถูกตาต้องใจกัน จึงจัดการให้ทั้งสองได้แต่งงานกันสมดังใจปรารถนา แต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ทั้งสองคนต่างก็ลุ่มหลงอยู่ในความรักที่มีให้กันและกัน จนโอริฮิเมะไม่เป็นอันทำการทำงาน ไม่กลับมาทอผ้าดังเดิม
- ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งวัวของตัวเอง จนมีวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ก่อความเดือดร้อนให้กับเทพบนสวรรค์ เทพผู้ครองสวรรค์ผิดหวังและพิโรธอย่างมาก
- จึงลงโทษทั้ง 2 ให้แยกจากกัน ขีดทางช้างเผือกขึ้นมาขวางกั้นทั้งสองเอาไว้
- เมื่อทั้ง 2 ต้องแยกจากกัน โอริฮิเมะก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก จนไม่เป็นอันจะทอผ้าให้งดงามดังเดิม หดหู่จนเจ้าผู้ครองสวรรค์เวทนาสงสาร จึงใจอ่อนยอมให้ทั้ง 2 ได้พบกันปีละครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี
- แต่มีเงื่อนไขว่า ทั้งสองต้องกลับมาทำงานอย่างขยันขันแข็งเหมือนเดิม จึงทำให้ในทุก ๆ ปี เมื่อถึงวันที่ 7 เดือน 7 ทั้ง 2 จะมาเจอกันที่ทางช้างเผือก
- ทั้ง 2 ยังคงไม่สามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ ทำได้เพียงแค่เจอหน้ากันอยู่คนละฟากฝั่งของทางช้างเผือกเท่านั้น
- และแล้วก็มีฝูงนกกางเขนบินผ่านมาและได้ไถ่ถามทั้ง 2 เมื่อฝูงนกกางเขนได้ทราบทุกอย่างแล้ว ก็เกิดความสงสารและต่อตัวกันเป็นสะพานนกกางเขน ทำให้โอริฮิเมะและฮิโกโบชิสามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้
- นกกางเขนสัญญาว่าจะมาเป็นสะพานให้ทั้งสองได้ข้ามมาพบกันทุกปี แต่หากปีใดเกิดฝนตกขึ้นมา ฝูงนกกางเขนก็จะไม่มา ทำให้ทั้งสองไม่มีสะพานข้ามไปพบกัน จึงต้องรอให้ถึงวันที่ 7 เดือน 7 ในปีถัดไป
เกร็ดความรู้จากกลุ่มดาว
- หัวค่ำช่วงนี้ จะสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างเด่นทั้ง 3 กลุ่มดาวนี้ ปรากฏขึ้นมาจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน
ความสำคัญของกลุ่มดาวทั้ง 3
สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle)
- หากเราลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟ้าในค่ำคืนนี้ จะเห็นดาวสว่าง 3 ดวง เรียงรายกันคล้ายกับสามเหลี่ยมมุมฉากอยู่บนท้องฟ้า เราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน (Summer Triangle)
- สามเหลี่ยมฤดูร้อนจัดเป็นดาวเรียงเด่น (asterism) ที่รู้จักกันดีอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากสามเหลี่ยมนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง และจะโผล่พ้นขอบฟ้าในช่วงที่ตรงกับฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ แสดงถึงการมาของฤดูร้อน อันเป็นที่มาของชื่อ
- ดาวสว่างสามดวงที่ประกอบขึ้นเป็นสามเหลี่ยมฤดูร้อน ได้แก่
- Vega (บน)
- Deneb (ซ้าย)
- Altair (ขวา)
- ซึ่งเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) หงส์ (Cygnus) และ นกอินทรี (Aquila) ตามลำดับ
- แม้เราอาจจะสังเกตเห็นดาว Vega และ Deneb มีความสว่างที่ใกล้เคียงกัน แต่แท้จริงแล้วดาว Vega นั้นอยู่ห่างออกไปจากเราเพียง 25 ปีแสง ในขณะที่ดาว Deneb นั้นอยู่ห่างออกไปถึงประมาณ 2,500 ปีแสง หรือไกลกว่าดาว Vega เกือบร้อยเท่า
- ทั้งนี้ เป็นเพราะดาว Deneb ปลดปล่อยพลังงานออกมามากกว่าดาว Vega ถึงกว่า 10,000 เท่า หรือมากกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึงเกือบ 200,000 เท่านั่นเอง
- ท่ามกลางดาว 3 ดวงนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นแถบกาแล็กซีทางช้างเผือกที่เราอาศัยอยู่พาดผ่าน
- หากสังเกตด้วยตาเปล่าในท้องฟ้าที่มืดมิดไร้แสงรบกวน เราอาจจะสังเกตเห็นเป็นฝ้า หรือเมฆจาง ๆ สีขาวขุ่นพาดผ่านสามเหลี่ยมฤดูร้อนนี้ อันเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยว่า ทางช้างเผือก และชื่อภาษาอังกฤษ Milky Way ซึ่งแปลว่าเส้นทางสายน้ำนม
- ในตำนานของเอเชียตะวันออกไกล มีตำนานพูดถึงเด็กเลี้ยงวัว (แทนด้วยดาว Altair) และสาวทอผ้า (แทนด้วยดาว Vega) ที่ความรักของทั้ง 2 ถูกขวางกั้นเอาไว้โดยแม่น้ำอันกว้างใหญ่
- และในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวที่จะมีสะพานพาดมาเพื่อให้ทั้งสองได้มาพบกัน อันเป็นที่มาของเทศกาลทานาบาตะที่เรารู้จักกันในประเทศญี่ปุ่น
- ในความเป็นจริงแล้วนั้น ดาวทั้ง 2 ถูกกั้นด้วยห้วงอวกาศอันอ้างว้างเป็นระยะทางถึงกว่า 16 ปีแสงเลยทีเดียว
- เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้สามเหลี่ยมฤดูร้อนขึ้นและตกเร็วขึ้นทุกวัน จนไม่สามารถสังเกตได้ในเวลากลางคืนอีกต่อไป
- เป็นสัญญาณแห่งการสิ้นสุดฤดูร้อน และเข้าสู่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ซึ่งอีกสามเหลี่ยมหนึ่ง สามเหลี่ยมฤดูหนาว จะโผล่ขึ้นมาแทนที่ เป็นสัญญาณของฤดูหนาวที่กำลังย่างกรายเข้ามาแทน
เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาตร์
เรียบเรียง : ดร. มติพล ตั้งมติธรรม – นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร.
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง