เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดสำหรับท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ตอนนี้มี ส.ว.บางกลุ่มยืนยันจะโหวตสนัสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคม เช่น นางประภาศรี สุฉันทบุตร นายวันชัย สอนศิริ นางทัศนา ยุวานนท์ นางภัทรา วรามิตร ฯลฯ โดย ส.ว.กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่าถึงหลักการของระบบรัฐสภาในเรื่องเสียงข้างมาก
การโหวตเลือกของ ส.ว.กลุ่มนี้เป็นสิทธิส่วนตัวที่ไม่อาจกล่าวล่วงได้ แต่ที่น่าสนใจคือ ส.ว.บางคนเคยอยู่ในกลุ่ม 23 ส.ว.ที่ลงมติปิดสวิตซ์ตนเองในการรับหลักการ หรือเห็นชอบให้ตัดอำนาจตัวเองในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามร่างแก้ไขมาตรา 272 ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เป็นผู้เสนอเมื่อเดือนกันยายน 2565
ทั้งนี้ 23 ส.ว.ที่เคยลงมติของปิดสวิตซ์ตนเองเพื่อขอตัดอำนาจตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 1.นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ 2.นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ 3.นายคำนูณ สิทธิสมาน 4.พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา 5.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 6.นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ 7.นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ 8.นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 9..นายบรรชา พงศ์อายุกูล 10.นางประภาศรี สุฉันทบุตร 11.นายประมนต์ สุธีวงศ์
12.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ 13.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ 14.นายพิศาล มาณวพัฒน์ 15.นายมณเฑียร บุญตัน 16.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช 17.นายวันชัย สอนศิริ 18.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ 19.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 20.นายสุวัฒน์ จิราพันธ์ 21.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว 22.นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และ23.นายอำพล จินดาวัฒนะ
การขอปิดสวิตซ์ของ ส.ว. 23 คนเมื่อครานั้นเป็นการแสดงเจตจำนงค์ที่จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีทุกกรณีแม้ว่าตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะระบุ ให้ใน 5 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. จำนวน 250 คน มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ส.ว. ยังมีอายุไปถึง พฤษภาคม 2567