ศึกชิงหัวหน้าปชป.สุดคึก ลุ้น “อภิสิทธิ์” คัมแบ็ก “อลงกรณ์-ดร.เอ้” ขอบายไม่แข่ง “มัลลิกา” โผล่เป็นทางเลือก

ศึกชิงหัวหน้าปชป.สุดคึก ลุ้น "อภิสิทธิ์" คัมแบ็ก "อลงกรณ์-ดร.เอ้" ขอบายไม่แข่ง "มัลลิกา" โผล่เป็นทางเลือก

จากกรณีที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผยว่า การประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ มีวาระสำคัญคือการเลือก “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 367 คน ขณะที่การประชุมตามข้อบังคับพรรค จะดำเนินการได้ต้องมีองค์ประชุม 250 คนขึ้นไป และยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีชื่อใครบ้าง ที่จะสมัครแข่งขันตำแหน่งหัวหน้าพรรค จะทราบเป็นทางการในช่วงเช้าวันอาทิตย์นี้ พร้อมกันในที่ประชุม แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะมีการแสดงเจตนารมณ์ของนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคที่ ต้องการเข้ามาทำหน้าที่กอบกู้พรรค

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เขตหลักสี่ กทม. ที่พรรคประชาธิปัตย์จัดประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ตามข้อบังคับพรรคการเมือง หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค โดยมีบรรดาแกนนำพรรคเข้าร่วมด้วย อาทิ นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองหัวหน้าพรรค เป็นต้น โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ข่าวที่น่าสนใจ

 

โดยเวลา 08.45 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ในฐานะจะลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ เดินทางมาถึงที่ประชุมพรรค โดยมีสมาชิกพรรคมารอต้อนรับ ซึ่งทันทีที่นายอภิสิทธิ์ เดินทางถึงปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

 

 

 

 

 

 

ซึ่งผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าวันนี้จะถูกเสนอชื่อและเป็นม้ามืดหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวตอบสั้นๆว่า “เคยพูดไปแล้ว ขอให้รอในที่ประชุมอย่างเดียว เมื่อถามว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนในที่ประชุมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมพูดไปหมดแล้ว รอในที่ประชุม”

เมื่อถามต่อว่ากลับมาครั้งนี้จะมากู้วิกฤติพรรค และรีแบรนด์พรรคใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ผมจะพูดในที่ประชุม”

ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ของพรรค ให้สัมภาษณ์เช่นกันว่า วันนี้จะไม่ลงสมัครในตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเด็ดขาด

 

 

เมื่อถามว่ามีมามืดเข้าชิงมองว่าเป็นใคร นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ก็ไม่แน่ใจ เพราะมีหลายคนเข้าชิง และอาจจะมีผู้สมัครเพิ่มเติมก็ได้ ส่วนคุณสมบัติแบบไหนที่เหมาะจะเป็นหัวหน้าพรรคนั้น นายสุชัชวีร์ กล่าวย้ำว่า ต้องเป็นผู้นำ นำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคิดเรื่องนี้

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรค ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร ต้องรอผลการเลือกตั้งก่อน แต่ประชาธิปัตย์มีภารกิจสำคัญในฐานะพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมือง ที่จะต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อรับใช้ประชาชน และจะต้องทำหน้าที่เป็นสถาบันการเมืองหลัก ในการขับเคลื่อนระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืนต่อไป

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ยังไม่ทราบว่า แคนดิเดตหัวหน้าพรรคมีใครบ้าง ซึ่งคนที่มาเป็นหัวหน้าพรรคจะต้องสมัครใจ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ และที่ประชุมจะเป็นคนเลือก โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ดูเหมือนธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา หากนำมาประกอบกันก็จะเป็นหัวหน้าพรรคได้ ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ที่ผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรคแต่ละคนจะต้องพูด ถือเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินเลือกหัวหน้าพรรค และถือเป็นเรื่องปกติ

 

เมื่อถามว่าหวังว่าการเปลี่ยนหัวหน้าพรรควันนี้จะช่วยนำพาพรรคประชาธิปัตย์ก้าวไปข้างหน้าได้หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคพิสูจน์มาแล้ว และอยู่มาได้ถึง 77 ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ 78 แน่นอนว่าการเลือกตั้งมีแพ้บ้าง มีชนะบ้าง แต่ที่พรรคอยู่มาได้ เพราะมีความซื่อสัตย์สุจริต และพรรคมีอุดมการณ์ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อถามต่อว่าแนวทางหลังจากนี้จะรีแบรนด์พรรคอย่างไรนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า พรรคมีอุดมการณ์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นแก่นสำคัญ จะทำอย่างอื่นไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมใหญ่ฯวันนี้ นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือมาดามแป้ง ผู้จัดการทีมชาติไทย ชุดใหญ่ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดยยิ้มแย้มทักทายกับสื่อมวลชนและกล่าวสั้น ๆ ว่า “คุณพ่อ (นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์) เป็นโหวตเตอร์”

จากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่าจะเห็นมาดามแป้งลงสนามการเมืองหรือไม่ แต่มาดามแป้งตอบติดตลกว่า “ทำฟุตบอลสนุกกว่า” ทั้งนี้ การโหวตเลือกหัวหน้าพรรค มีคนที่เชียร์ในใจแล้ว

 

 

 

ขณะที่ทางด้านนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ประจำปี 2566 ว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการของดเว้นข้อบังคับข้อที่ 137 ที่ให้น้ำหนักการโหวตของส.ส.ที่ 70:30 ในเลือกหัวหน้าพรรค ไปเป็นแบบ 50:50 หรือ 1 สิทธิ 1เสียง เพราะยึดข้อบังคับพรรคนี้มานานแล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่จะเสนอชื่อชิงหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์นอกจากนายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคที่เคยประกาศตัวชัดเจนเพียงคนเดียว ยังไม่มีใครเสนอชื่อเข้าชิงเพิ่มเติม แต่วันนี้อาจจะมีม้ามืดที่ยังไม่เป็นข่าว จะประกาศตัวในการประชุมวันนี้ ซึ่งตนคิดว่า ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อลงสมัครหัวหน้าพรรคคนนี้ไม่เคยเป็นข่าว ส่วนจะเป็นใครต้องไปบอกในที่ประชุม แต่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือเป็น ส.ส.หลายสมัย การศึกษาดี เคยทำงานเป็นผู้บริหารประเทศมาแล้ว และไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย มีชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลดี ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีก๊ก มีขั้ว วันนี้มีเพียงก๊กเดียวคือประชาธิปัตย์ และไม่มีขั้ว ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่ข่าวเท่านั้น

ทั้งนี้มีรายงานระบุว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งประกาศตัวลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นคนแรก ได้ส่งข้อความผ่านไลน์ ระบุว่า ขออภัยที่ไม่ได้ไปร่วมประชุมใหญ่วิสามัญในวันนี้ จึงขอฝากข้อความสุดท้ายมาถึงทุกท่าน ขอให้สมาชิกพรรคทุกคนร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูพรรคประชาธิปัตย์ของเรา

 

“ผมเชื่อมั่นว่า ทุกคนรักพรรค แต่อาจมีแนวคิดแนวทางแตกต่างกันในการกอบกู้พรรค ก็ขอให้หันหน้าพูดคุยกันฉันท์พี่น้องให้เกียรติกัน และกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพรรคของเราด้วยอุดมการณ์เดียวกันสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การยืนหยัดในจุดยืนประชาธิปไตยด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สร้างพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่ยึดมั่นในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการก้าวใหม่ของตัวเอง และโอกาสใหม่จากประชาชน”

นายอลงกรณ์ ระบุต่อว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องมีจุดยืนประชาธิปไตย มีความซื่อสัตย์สุจริต มีภาวะผู้นำที่เข็มแข็ง มีวิสัยทัศน์ก้าวหน้า สามารถสร้างพลังความเป็นเอกภาพในการฟื้นฟูปฏิรูปพรรค เพื่อให้ประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งในอุดมการณ์และกลับมาเป็นพรรคการเมืองหลักของประเทศอีกครั้งหนึ่ง

“ขอให้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่ต้องแบกรับภารกิจที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพรรคเป็นไปโดยราบรื่นด้วยคุณค่าแห่งอุดมการณ์ และความดีงามมากกว่าสิ่งตอบแทนใดๆ อย่าให้ซ้ำรอยปี 2561 ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงด้วยพลังความสามัคคีของทุกคนในพรรคครับ”

ขณะที่ทางด้านนางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จะทำให้เห็นว่า เสรีภาพประชาธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่ ปชป. และเราเป็นหนึ่งคนที่จะได้แสดงศักยภาพให้ได้เห็นถึงความงามที่เป็นประชาธิปไตย และพรรคประชาธิปไตยถือเป็นพรรคการเมืองที่มีรากเง้าและดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงต้องการความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนที่จะลงสมัคร และที่ผ่านมาพรรคได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงเจตจำนง ซึ่งตนก็ตัดสินใจอยู่นานมาก และเมื่อพรรคต้องการบุคลากรที่หลากหลาย ตนจึงลงสมัคร เพื่อต้องการทำเรื่องปฏิรูป

 

เพราะเป้าหมายที่สูงที่สุดจะต้องมีการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง ตอนที่มีการเปิดตัวตั้งแต่ต้นไปออกรายการต่างๆ เราตั้งใจอยู่แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์จะต้องทันสมัย จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง จะต้องทำการปฏิรูปพรรคอย่างจริงจัง ก็จะต้องการคนที่มีความเข้มแข็งทั้งจิตใจและภาวะต่างๆ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนรุ่นใหม่จะได้นำพาพรรคก้าวผ่านสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงให้ได้ และที่สำคัญการเป็นผู้นำจะต้องมีความเข้มแข็งทั้งจิตใจ การวางโครงสร้างและความร่วมมือต่างๆ ดังนั้นเชื่อมั่นว่า การที่เรามีเจตจำนงในการทำงาน มั่นใจว่าคนที่เป็นแฟนคลับของพรรคจะได้มีความมั่นอกมั่นใจ รวมถึงมีกำลังใจต่อสู้ “ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะนำพาพรรคประชาธิปัตย์ก้าวข้ามสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยกัน”

 

นางมัลลิกา ย้ำว่า จะไม่มีการถอนตัว และอยากสร้างปรากฏการณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีพระแม่ธรณีบีบมวยผม ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะมีผู้หญิงสัก 1 คน ไม่เพียงแต่การส่งชื่อไปในช่องทางต่างๆ แต่เราจะเอาจริงและจริงจังกับเรื่องนี้ พร้อมย้ำว่าไม่ได้ปรึกษาหารือกับใครเฉพาะเจาะจง เนื่องจากการปรึกษาหรือไม่ปรึกษาพรรคก็ไม่จำกัดเสรีภาพอยู่แล้ว ตนมีคุณสมบัติครบ ที่สำคัญคือ อยู่ พรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ปี 2550 กว่าๆ ทำงานให้พรรคมาโดยตลอด มั่นใจว่าศักยภาพของตนและทีมสามารถพลิกฟื้นประชาธิปัตย์ได้

“เราก็รู้ว่าสถานการณ์ค่อนข้างหนักและท้าทายมาก แต่ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์ เราต้องก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้ เพื่อจะให้เกิดความยิ่งใหญ่ และจะนำประชาชนแก้วิกฤตสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมือง วิกฤตความเชื่อมั่น วิกฤตปากท้อง การแตกแยกทางความคิด ดิฉันมั่นใจว่า วิกฤตที่ใหญ่ที่สุดคือ วิกฤตของการแตกแยกทางความคิด ซึ่งเจนฯอย่างเรา อยู่ตรงกลาง ระหว่างเจนใหม่กับเจนเก่า ดังนั้นหากมีจุดที่เราเชื่อมได้ มีความทันสมัย และใช้รูปแบบ เช่น การนำเอไอ แลไอที มาปฏิรูปพรรคได้ เชื่อว่า เราจะฝ่าสถานการณ์นี้ไปให้ได้”

นางมัลลิกา กล่าวต่อ ตนมีความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้วว่า เราจะเป็นผู้หญิงคนเดียว ถ้าไม่มีการเสนอชื่อผู้หญิงคนอื่น และเรามีแผนปฏิรูปพรรคอย่างชัดเจน ในการพาพรรคผ่านไปได้ และมั่นใจว่าสมาชิกพรรคจะเห็นจุดที่ต่างออกไป ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะเรื่องการนำพาพรรคไปสู่ความยิ่งใหญ่ได้อย่างไรในอนาคต และเชื่อมประสานคนทุกรุ่นได้ จึงมั่นใจว่าเป็นแนวทางที่แปลกและแตกต่าง

พร้อมย้ำอีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงอุดมการณ์เช่นเดิม แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือเรื่องของยุคสมัยและเครื่องมือที่ใช้ การเข้าถึงประชาชนที่จะต้องเข้าหาประชาชนมากกว่าให้ประชาชนเข้าหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5
สุดปัง “นายกฯ” สวมกระโปรงผ้าปาเต๊ะ ร่วมประชุม WEF

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น