เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานในความเคลื่อนไหวของ ส.ว. ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่มีวาระโหวตนายกรัฐมนตรี ตาม ที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ส.ว. ได้เช็คเสียงกันเป็นการภายใน พบว่า ส่วนใหญ่จะลงมติ “งดออกเสียง” เกือบ 90% มีเพียง 5-10 คน ที่ยืนยันโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และมีส.ว.อีกไม่กี่เสียงที่จะลงมติไม่สนับสนุนนายพิธา ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบสอง วันที่ 19 ก.ค. นั้น ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ มีความเห็นว่าตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่า “ตกไป” และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกมธ. จึงมองว่า กรณีที่รอบแรก นายพิธาไม่ได้รับเลือกจากรัฐสภา จะไม่สามารถเสนอชื่ออีกในการโหวต ครั้งที่2
ดับฝัน “พิธา”นั่งนายกฯ ส.ว. จ่อชักแถว “งดออกเสียง” เกือบ 90 % เตรียมแผนสองค้านเสนอชื่อ “พิธา” กลับมาโหวตใหม่ ครั้งที่ 2 อ้างขัดข้อบังคับการประชุมข้อ41 ขู่หากยังดื้อ จ่อส่ง ศาลรธน. ตีความ
ข่าวที่น่าสนใจ
รายงานข่าวระบุ อีกว่า แต่หากมีคนเสนอชื่อนายพิธา กลับมาอีกในวันที่ 19 ก.ค.นี้ จะมีส.ว.ลุกคัดค้านกับที่ประชุมรัฐสภา โดยไม่ยอมให้เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 หากประธานรัฐสภา ยังยืนยันให้เสนอชื่อนายพิธาได้ ก็จะต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 สุดท้ายจะขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจของตนเองหรือลงมติในที่ประชุมเพื่อตัดสินเพื่อชี้ขาด
รายงานข่าว ระบุอีกว่า วันที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งนัดโหวตนายกรัฐมนตรี รอบสองนั้น ขอให้จับตาว่าจะมีผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น แข่งขันกับนายพิธาด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง