นับถอยหลังเหลือเวลาแค่ 4 วัน ที่สองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา มีกำหนดการประชุมร่วมกันในวันพฤหัสบดีที่ 13 ก.ค.2566 โดยมีวาระสุดสำคัญคือการโหวตเลือกนายกฯคนที่ 30 ขึ้นมาบริหารประเทศ ที่งานนี้ยังไม่รู้ว่าจะจบลงแบบแฮปปี้แอนดิ้งในวันนั้นแบบวันเดียวม้วนเดียวจบหรือจะลากถูกลู่ถูกังกันไปจนกว่าพิธาจะได้นายกฯที่ต้องบอกว่ายาก ยากจริงๆ ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นดอยอินทนน์ที่สูงสุดในประเทศไทยกว่า 2,600 เมตรเสียอีก พูดแบบนี้ไม่ได้แช่งชักหักกระดูกทิมพิธา ที่ล่าสุดไปเดินสายขอบคุณชาวบ้านที่โคราช สุพรรณบุรี และ หน้าลานเวิร์ลเทรด งานนี้เจ้าตัวยังมั่นใจว่าไม่แห้วแน่นอนและพร้อมจะเป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทยในวันที่ 13 ก.ค.ที่จะถึงนี้แบบไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้ง ความมั่นใจของพิธาพุ่งขึ้นต่อเนื่องไม่กี่วันก่อนก็ออกมาคุยเชื่อว่าส.ว.จะให้การสนับสนุนโหวตเป็นผู้นำประเทศคนใหม่
พิธาพูดมั่นใจว่าตัวเองจะได้รับโอกาสเป็นนายกฯ แต่สภาพแวดล้อมและปัจจัยรายล้อมดูเหมือนจะไม่เอื้อให้พิธาประการแรกจำนวนเสียงส.ส.กับส.ว.ที่จะสนับสนุนพิธา ดูทรงยังไงก็ไม่มีทางถึงเกณฑ์ตาม รัฐธรรมนูญ ม. 159 และโดยเฉพาะ ม. 272 ที่ระบุชัดเจน ” ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ให้ดำเนินการตาม ม. 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตาม ม. 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกฯ ตามม.159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา” 376 จาก 750 ตรงนี้แหละที่เป็นจุดตายของพิธา 8 พรรคมีเสียงหนุน 312 เสียงต้องหาอีก 64 เสียงถึงจะไปถึงฝั่งฝันได้ ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับพิธาและก้าวไกล ที่มีจุดยืนเรื่องแก้ไข ม.112 มีแนวคิดมีการกระทำมีความคิดฝังหัวเรื่อง “ล้มเจ้า” มาตลอดตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเล่นการเมืองจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีทางที่ส.ว.250 คนจะไฟเขียวให้พิธาเป็นนายกฯแน่นอนถ้าไม่ลดเพดานเรื่องนี้หรือประกาศยกเลิกเรื่องนี้ไปเลย
เชคเสียงสภาสูงล่าสุดก็ไม่ตรงกัน กระแสหนึ่งบอกว่าพิธามีส.ว.หนุนเต็มที่ไม่เกินหลักสิบคน อีกฝากที่ก็บอกว่ามีสภาสูงราว 15 คนที่จะยกมือให้พิธา กลุ่มนี้มีทั้งที่ประกาศออกตัวมาแล้วและพวกที่มีแนวคิดจะยกมือให้คนที่รวมเสียงส.ส.ได้มากที่สุด ประกอบด้วย 1.มณเทียร บุญตัน 2. ประภาศรี สุฉันททบุตร 3.พีระศักดิ์ พอจิต 4.นางประยูร เหล่าสายเชื้อ 5.นางทัศนา ยุวานนท์ 6.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 7. นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 8. ภัทรา วรามิตร 9. ทนายวันชัย สอนศิริ 10. นายสุวัฒน์ จิราพันธ์ 11.นพ.อำพล จินดาวัฒนะ 12 นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ 13. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ลูกชายนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี 14. นายพิศาล มาณวพัฒน์ 15. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล เท็จจริงไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดจะยกมือให้พิธาจริงตามกระแสข่าวที่ออกมาหรือไม่ แต่ถ้าได้เสียงสนับสนุนแค่นี้พิธาต้องหาเสียงอีกน้ำบานเลย อย่างน้อยก็ต้องหาเสียงอีกครึ่งร้อย
ตอนนี้มีความพยายามจะสร้างประเด็นเรียกร้องให้ส.ว.ใช้มาตราฐานเดียวกันในการโหวตเลือกนายกฯให้เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือ 24 มี.ค.2562 ที่การโหวตนายกฯเมื่อ 5 มิ.ย.2562 ตอนนั้น ส.ว.249 คนโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบท่วมท้น บวกกับ ส.ส.อีก 251 คน ทำให้บิ๊กตู่ชนะธนาธรได้เป็นนายกฯด้วยเสียง 500 ต่อ 244 แต่มารอบนี้ส.ว.หลายคนจะ “งดออกเสียง” ขอเลือกแนวทาง “ปิดสวิตซ์” ตัวเอง ประเด็นนี้เลยทำให้ด้อมส้มฝ่ายก้าวไกลออกมาโจมตีว่าส.ว.สองมาตราฐาน ความจริงเรื่องนี้ถ้าไม่โง่หรือโดนส้มล้างสมองจนรอยหยักในหัวไปหมดแล้ว คำตอบก็ง่ายนิดเดียวที่ส.ว.โหวตให้บิ๊กตู่แบบล้นสภาก็เพราะพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯที่เทิดทูนสถาบัน รักชาติ รักแผ่นดิน ไม่มีความคิด “ล้มเจ้า-ขายชาติ” ไง แล้วมาดูพิธาซิเป็นไง เสนอไอเดียแก้ 112 ตัวพรรคพวกก็มีแต่พวกล้มเจ้า ขายชาติชักศึกเข้าบ้าน ยกเลิกกฎอัยการศึก สนับสนุนแบ่งแยกดินแดน ฯลฯ เอาแค่นี้ก็ไม่มีใครอยากยกมือให้พิธาแล้ว ตัวเองด่าเจ้าปาวๆ แต่ออกมาบอกว่าจะแก้กฎหมายปกป้องสถาบันให้เป็นที่รักที่เชิดชูสืบต่อไป โคตรย้อนแย้งเลย มีแต่พวกกินหญ้าแทนข้าวเท่านั้นที่เชื่อว่าพิธารักเจ้าหวังดีกับสถาบันจริง ๆ แต่คนไทยส่วนใหญ่รู้เช่นเห็นชาติรู้ธาตุแท้พิธากับฝ่ายส้มดี ไม่มีทางที่พวกคุณมึงจะเทิดทูนและคิดดีๆกับสถาบัน
ประเด็นต่อมาคือเรื่องคดีความต่างๆที่ยังมีเต็มเป้ากางเกงพิธาเลย ทั้งเรื่องรู้ว่าไม่มีสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเพราะขาดคุณสมบัติแต่ก็ยังไปสมัครเลือกตั้งเป็นส.ส. เรื่องของการถือหุ้นสื่อไอทีวี 42,000 หุ้น ฯลฯ ที่ล่าสุดคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงของกกต.ได้สรุปเรื่องทั้งหมดนำเรียนกกต.ชุดใหญ่ แล้วมีแนวโน้มสูงยิ่งว่ากกต.ชุดใหญ่ที่จะประชุมกันในวันนี้ ( 10 ก.ค.2566) เพื่อเคาะส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ประเด็นนี้แหละที่ทำให้พิธาต้องลุ้นกันตัวโก่งว่ากกต.จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญไหม แล้วหากส่งไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไร จะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไหม จะเข้าโหวตนายกฯได้หรือไม่ จะมีผลต่อความเป็นแคนดิเดตนายกฯด้วยไหม อันนี้ต้องลุ้นฟังความจากศาลรัฐธรรมนูญว่าหากรับเรื่องจากกกต.แล้วจะออกมาคำสั่งอะไรมาไหม จะเป็นคุณหรือเป็นโทษกับพิธา
โดยเฉพาะใน 1-2 วันนี้ก่อนหน้าการโหวตนายกฯในวันที่ 13 ก.ค. เรื่องนี้ถ้ากกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจริง โอกาสที่พิธาจะถูกยกมือจากส.ส.และส.ว.ก็ยิ่งน้อยลงไปมาก เพราะคงไม่มีส.ว.คนไหน อยากโหวตให้คนที่มีชนักติดหลังมีคดีความติดตัวอยู่แบบพิธา ที่ยังไม่รู้ว่าผลแห่งคดีปลายทางจะออกลูกผีหรือว่าลูกคน นอกจากประเด็นเรื่องคดีความแล้ว ต่อให้พิธาโชคดีไม่ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ไม่ถูกแช่ฟีด สามารถเข้าสภามาโหวตลุ้นเป็นนายกฯได้ แต่ก็มีประเด็นให้ต้องตีความเรื่องการโหวตกันอีกว่าจะสามารถเสนอชื่อพิธาให้สภาโหวตกันได้กี่ครั้งกี่วัน ก่อนหน้านี้พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอาจเปิดโอกาสให้มีการโหวตนายกฯกันเต็มที่สัก 3 ครั้งที่ก็ถือว่าเยอะแล้วคือวันแรกในวันที่ 13 ก.ค. ถ้าวันนั้นยังไม่ได้ก็อาจเลื่อนไปอีกอาทิตย์นึง เป็นวันพุธที่ 19 ก.ค. ถ้าไม่ได้ก็ต่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ก.ค. ที่ก็ถือว่ามากแล้วที่ดูจะสอดคล้องกับที่วันมูหะมัด นอร์มะทา ประธานรัฐสภาเคยพูดว่าพอโหวต 13 ก.ค.ถ้าไม่ได้ ก็ควรให้โหวตอีกสัก1-2 ครั้ง เพราะโหวตบ่อยๆส.ส.จะเบื่อ จะพาลไม่มาสภาเอาง่ายๆ
ขณะที่มีอีกหลายคนก็เสนอความเห็นว่าการโหวตพิธาควรจะโหวตแค่ครั้งเดียวถ้าไม่ผ่านก็ถือว่าจบเลยให้ถือว่าสองสภามีมติไม่เลือกพิธาเป็นนายกฯแล้ว ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯคนใหม่จากพรรคอื่นๆมาโหวตได้เลย แนวคิดนี้ไปสอดคล้องกับความเห็นของส.ว.ส่วนมากเช่นกันที่เห็นว่าควรยึดแนวทางการเสนอชื่อบุคคลที่จะเข้าไปทำงานในองค์กรอิสระต่างๆของสภาสูง ซึ่งที่ผ่านมามีระเบียบกำหนดชัดเจนอยู่แล้ว ถ้ามีการเสนอชื่อบุคคลที่จะไปทำงานในองค์กรอิสระต่างๆมาให้สภาสูงโหวต แล้วเสียงส่วนใหญ่โหวตไม่รับ ไม่เอา ไม่เห็นด้วย ชื่อนั้นจะต้องตกสำรวจถูกคัดออกไปโดยไม่สามารถนำกลับมาโหวตใหม่ได้โดยอัติโนมัติเป็นที่รับรู้กัน ฝ่ายสภาสูงอยากให้คงหลักเกณฑ์นี้ แต่ฝ่ายก้าวไกลด้อมส้มอยากให้มีการโหวตไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ก็เป็นอีกประเด็นที่อาจขวางพิธาเช่นกัน ถ้าโหวตครั้งแรกไม่ผ่านไปต่อไม่ได้ชื่อพิธาอาจจะต้องม้าตายตั้งแต่หัววันไปเลย โดยไม่สามารถนำกลับมาโหวตได้อีก ประเด็นนี้ก็งัดกันอยู่ระหว่างส.ว.กับฝ่ายก้าวไกล แต่ถ้าใช้เสียงส่วนใหญ่ในสองสภาโหวตกัน เชื่อเลยว่าพิธาจะถูกหยิบมาโหวตแค่ครั้งเดียวแน่ๆ เพราะเพื่อไทยกับแคนดิเดตพรรคอื่นๆก็รอจังหวะสองหากพิธาพลาดอยู่เช่นกัน ตรงนี้รับรองทุกฝ่ายจะบีบให้โหวตพิธาได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น เพราะทุกฝ่ายรู้อยู่แล้วว่าโหวตให้ตายยังไงพิธาก็ไม่ได้
ล่าสุดเรื่องนายกฯนอกจากพิธา กับ 2 แคนดิเดตนายกฯฝ่ายแดงอย่าง “แพทองธาร-เสรษฐา” ฝ่ายตาอยู่ฝั่งลุงป้อม ทาง “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัล รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ออกมาส่งสัญญาณว่าลุงป้อมพร้อมลุ้นโอกาสเป็นสร.1 แข่งกับทุกคน ” ตามหลักการ ต้องให้พรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 1 เสนอชื่อก่อน หากไม่ผ่านก็เป็นสิทธิ์ของพรรคอันดับ 2 แต่หากแคนดิเดตของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยไม่ผ่าน คงต้องมีการพูดคุยกันว่าจะมีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาช่วย หรือ สมการการเมืองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่อย่างไร รัฐบาลก็ต้องเป็นเสียงข้างมาก และหากมีการพลิกขั้ว โดยพรรคเพื่อไทยจับมือกับขั้วรัฐบาลเก่า ก็จะต้องมีการเจรจากันว่าแคนดิเดตของพรรคใดเหมาะสมจะเป็นนายกฯ” ชัยวุฒิตัวตึงพปชร.ประกาศ พร้อมชูสเป็คลุงป้อมน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเมืองยุ่งๆพ.ศ.นี้ ” พล.อ.ประวิตร มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน มีประสบการณ์ มีวุฒิภาวะ สามารถนำพาประเทศให้ไปข้างหน้าอย่างสงบสุขได้ ไม่ขัดแย้งกับใครสามารถประสานงานและเป็นที่เคารพของเกือบทุกกลุ่มทุกพรรค” ชั่วโมงนี้มีแต่ฝ่ายส้มพวกเดียวเท่านั้นแหละที่คิดว่าพิธาจะได้เป็นนายกฯ แต่ฝ่ายอื่นสีอื่นมองข้ามช็อตเรื่องนายกฯข้ามตัวพิธาพ้นฝ่ายส้มไปไกลแล้ว ในสำรับนายกฯจริงๆตอนนี้ที่เหลือลุ้นจริงๆมีแค่ “อุ๊งอิ๊ง-เสี่ยนิด-บิ๊กป้อม” เท่านั้น ส่วนของจริงจะเป็นอย่างไร 13 ก.ค.นี้ไปลุ้นกัน แต่ที่แน่ๆรอบสุดท้ายรอบลึกในการลุ้นเก้าอี้สร.1 ไม่น่ามีชื่อพิธาแน่นอน เพราะอุปสรรคดักนายกฯโลกโซเชี่ยลมีมากจริงๆ ไม่เชื่อคอยตามดูกัน
////////////////////