“อ.คมสัน” ยกรธน.ชี้ชัดโหวต “พิธา” รอบแรกไม่ผ่าน ปธ.สภาฯดันทุรังสั่งลงคะแนนซ้ำทันทีไม่ได้

"อ.คมสัน" ยกรธน.ชี้ชัดโหวต "พิธา" รอบแรกไม่ผ่าน ปธ.สภาฯดันทุรังสั่งลงคะแนนซ้ำทันทีไม่ได้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 66 รศ.คมสัน โพธิ์คง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Komsarn Pokong” ระบุว่า การเสนอชื่อเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เสนอคนเดิมได้กี่รอบ

เมื่อสองสามวันก่อน มีน้องที่ทำงานในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้สอบถามมาว่า การพิจารณาตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๒ ประกอบมาตรา ๑๕๙ เป็นญัตติหรือไม่ ทั้งนี้เพราะเขาบอกว่ามีการโต้เถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่า หากรัฐสภาไม่เห็นชอบให้กับผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใด จะเสนอชื่อบุคคลนั้นได้กี่รอบ บางคนก็เห็นว่าทำได้หลายรอบ บางคนเห็นว่าเป็นญัตติทำได้ครั้งเดียว

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไม่เช่นนั้นอาจเห็นภาพที่มีการลงมติคนเพียงคนเดียวยืดเยื้อกันจนสมาชิกวุฒิสภาหมดวาระในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ เกิดขึ้นได้ และก็จะทำให้ลุงตู่รักษาการอยู่จนถึงปีหน้า เพื่อที่จะให้เป็นไปตามความประสงค์ของพรรคการเมืองบางพรรคที่ต้องการให้การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกระทำเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ซึ่งหากเกิดเหตุขึ้นก็จะเป็นการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ (ผมลงประชามติไม่รับ) เพราะมาตรา ๒๗๒ บัญญัติไว้ว่า

“มาตรา ๒๗๒ ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ หรือไม่ก็ได้”

บทเฉพาะกาลตามบทบัญญัติมาตรา ๒๗๒ ดังกล่าวหากจะพิจารณาก็จะพบว่ามีการวางหลักการสำคัญเป็นสองส่วนคือ

๑. การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ
ในมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งวางหลักการสำคัญไว้ ๓ ประการคือ
๑) การให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ในช่วงห้าปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญ ให้กระทำโดยรัฐสภา และใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
๒) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องบุคคลตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองยื่นไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา ๘๘
๓) มติในการให้ความเห็นชอบบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของทั้งสองสภา คือต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓๗๖ เสียงจากสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภารวมกัน(๗๕๐ คน)

๒. การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงห้าปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญกรณีที่ไม่สามารถเลือกจากบุคคลที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้

ในมาตรา ๒๗๒ วรรคสองวางหลักการสำคัญในช่วงเวลาห้าปีแรกของใช้รัฐธรรมนูญและมีกรณีที่ไม่สามารถเลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ ได้ มีการวางหลักการสำคัญไว้ ๓ ประการ ดังนี้

๑) การโหวตเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ ไม่สามารถกระทำได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ เช่น การได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา การขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี หรือการเจ็บป่วยร้ายแรงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นต้น

๒) ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน เมื่อมีสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘

๓) รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ หรือไม่ก็ได้

 

เมื่อพิจารณาจากหลักการสำคัญดังกล่าวตามมาตรา ๒๗๒ ดังกล่าวแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า มาตรา ๒๗๒ วรรคสองวางหลักการให้การโหวตครั้งแรกแล้วไม่ได้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ประธานรัฐสภาไม่สามารถเปิดให้มีการลงคะแนนเลือกใหม่ได้เอง แต่ต้องรอให้มีสมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภาเข้าชื่อกันประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ และรัฐสภาต้องมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ และก็จะดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง และในคราวนี้อาจเลือกบุคคลผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ หรือไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ก็ได้ ดังนั้น โดยเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๗๒ ดังกล่าว จึงอาจตีความได้ว่า การลงมติเพื่อเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่กระทำครั้งแรกในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ หากผู้ถูกเสนอชื่อในครั้งนั้นไม่ได้คะแนนเสียงถึงกึ่งหนึ่งคือ ๓๗๖ เสียงของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดแล้ว การเลือกบุคคลนั้นก็จะสิ้นสุดลงและต้องถือเป็นเงื่อนไขที่เข้าเหตุที่ไม่สามารถเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ และต้องมีการดำเนินการตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสองทันที

การดำเนินการในครั้งที่สอง ตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นการจะเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งใหม่นี้จะมีเงื่อนไขว่าจะเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ หรือไม่ก็ได้ ซึ่งประธานรัฐสภาต้องรอการเสนอให้มีการโหวตครั้งใหม่โดยต้องมีสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อกัน และต้องมีมติให้มีการดำเนินการครั้งต่อไปในเงื่อนไขสำหรับการเสนอชื่อผู้ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ ตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสองได้ ในจำนวนคะแนนเสียงถึงสองในสามของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด(๕๐๐ เสียงขึ้นไป) จึงจะดำเนินการครั้งที่สองได้และในครั้งนี้สามารถเสนอชื่อบุคคลให้เลือกเป็นนายกรัฐมนตรีตามวิธีการตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ เข้ารับการเลือกและแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ หรือจะเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ ก็ได้ โดยการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่สองนี้ยังต้องอาศัยคะแนนเสียงตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง คือเกินกึ่งหนึ่งของ จำนวนสมาชิกสภาทั้งสองรวมกัน คือต้องได้ไม่น้อยกว่า ๓๗๖ เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวว่าจะให้ลงมติเลือกบุคคลคนเดียวที่ไม่ผ่านการให้ความเห็นชอบแล้วได้อีก ๒-๓ ครั้ง ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไม่เป็นญัตติ จึงทำให้เป็นข้อถกเถียงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นญัตติหรือไม่อย่างไร การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นการเสนอ “ญัตติ” หรือไม่ ก็ต้องมาทำความเข้าใจว่า “ญัตติ” คืออะไร

“ญัตติ (Motion) คือ ข้อเสนอใด ๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ญัตติ เสนอได้ทั้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจา จะมีผู้รับรองหรือไม่ขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” (ที่มา:ศัพท์สภาน่ารู้,https://library.parliament.go.th/th/node/1643
)

ประเด็นสำคัญคือ ญัตติเป็นเรื่องที่มีเงื่อนไขให้ต้องมีผู้เสนอตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมสภาเพื่อให้สภาลงมติหรือชี้ขาด ผู้เสนอญัตติคือ สมาชิกรัฐสภา หรือผู้ซึ่งต้องเกี่ยวข้องและต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เช่น ประธานรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมาธิการ เป็นผู้ซึ่งต้องเสนอตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญหรือข้อบังคับ ญัตติ

ในหลักการของการประชุมรัฐสภาซึ่งเป็นการประชุมร่วมของสองสภาคือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งเป็นการประชุมตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในส่วนที่ ๕ การประชุมร่วมกันของรัฐสภา ของหมวด ๗ รัฐสภา ซึ่งต้องเป็นเรื่องตามมาตรา ๑๕๖ และต้องใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ออกตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งก็คือ ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งได้แบ่งออกเป็นเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่รวมทั้งสิ้น ๑๓ หมวด คือ

-หมวด ๑ หน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา และหน้าที่ของเลขาธิการรัฐสภาและรองเลขาธิการรัฐสภา
-หมวด ๒ การประชุมรัฐสภา
-หมวด ๓ กรรมาธิการ
-หมวด ๔ การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
-หมวด ๕ การเสนอและพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
-หมวด ๖ การให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๔๗ ของรัฐธรรมนูญ
-หมวด ๗ การรับฟังคำชี้แจงและการให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามมาตรา ๑๗๘ ของรัฐธรรมนูญ
-หมวด ๘ การเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
-หมวด ๙ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี
-หมวด ๑๐ การแถลงนโยบาย
-หมวด ๑๑ การเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา ๑๕๕ และมาตรา ๑๖๕ ของรัฐธรรมนูญ
-หมวด ๑๒ การรักษาระเบียบเรียบร้อย
-หมวด ๑๓ บทสุดท้าย

 

การประชุมรัฐสภาในวิธีการประชุมอยู่ในหมวด ๒ การประชุมรัฐสภาซึ่งแบ่งออกเป็น ส่วน ส่วนที่ ๑ วิธีการประชุม ข้อ ๙-ข้อ ๒๘ ส่วนที่ ๒ การเสนอญัตติ ข้อ ๒๙-ข้อ ๕๓ ส่วนที่ ๓ การลงมติ ข้อ ๕๔-๖๒ ประเด็นจึงมีสาระสำคัญว่า การเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ถือเป็นญัตติหรือไม่ เพราะในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๔๑ กำหนดว่า ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่า เหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เป็นการเสนอตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น โดยทั่วไปจะมีการใช้ข้อบังคับ ใน ๒ หมวด คือ หมวด ๙ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี และหมวด ๒ การประชุมรัฐสภา โดยในหลักการสำคัญคือหมวด ๙ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ข้อ ๑๓๖-ข้อ ๑๓๙ และในหมวด ๒ การประชุม ซึ่งต้องนำหลักการในส่วนที่ ๓ การลงมติ ข้อ ๕๔-๖๒ มาใช้ โดยในข้อ ๑๓๘ และข้อ ๑๓๙ ได้กำหนดหลักการไว้ว่า

“ข้อ ๑๓๘ ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภาบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาเป็นเรื่องด่วน

ในการพิจารณาญัตติตามวรรคหนึ่ง ให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาและลงมติว่าจะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับญัตติดังกล่าว โดยการออกเสียงลงคะแนนให้กระทำเป็นการเปิดเผยและมติเห็นชอบ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

 

ข้อ ๑๓๙ ในกรณีที่รัฐสภามีมติยกเว้นตามข้อ ๑๓๘ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้ และให้นำความในข้อ ๑๓๖ และข้อ ๑๓๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ดังกล่าว รวมทั้งเหตุการณ์ที่มีผู้คาดการณ์ว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ น่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้เขียนจึงมีความเห็นโดยสรุปดังนี้

(๑) ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๒ ประกอบกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๓๘ และข้อ ๑๓๙ ทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๖ หากไม่สามารถเลือกได้บุคคลแล้ว ประธานรัฐสภาต้องรอให้สมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๒๗๒ วรรคสองและข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๓๘ เสียก่อน จึงจะดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่ใช่อำนาจของประธานรัฐสภาที่จะจัดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ ๒ และครั้งต่อๆไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญไปกำหนดให้เป็นการใช้อำนาจร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาและประธานรัฐสภา หาใช่อาศัยอำนาจโดยอิสระของประธานรัฐสภาแต่เพียงฝ่ายเดียว

(๒) การเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ ๒ เข้าเงื่อนไขของมาตรา ๒๗๒ วรรคสอง ที่ว่าเข้าเหตุที่ไม่สามารถเลือกและแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ การดำเนินการต่อไปต้องรอการเสนอญัตติของสมาชิกรัฐสภาดังกล่าวแล้วใน (๑) และต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๓๘ ซึ่งจะเสนอผู้ที่ไม่มีชื่อในบัญชีของพรรคการเมืองตามมาตรา ๘๘ ก็ได้แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสามของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด(๕๐๐เสียงขึ้นไป)

(๓) การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๖๖ อาจต้องถือว่าเป็นญัตติ เพราะถึงแม้จะมีการเสนอเรื่องให้พิจารณาโดยประธานรัฐสภาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่การเสนอชื่อบุคคลเพื่อให้เลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าลักษณะเป็นญัตติของสมาชิกรัฐสภาที่มาจากพรรคการเมืองเสนอโดยเป็นญัตติที่มีลักษณะเฉพาะตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๑๕๙ ที่กำหนดเงื่อนไขต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนร้อยละห้าของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด และเมื่อมีการลงมติแล้วไม่ได้คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ก็จะไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นญัตติที่ลักษณะและเงื่อนไขเฉพาะตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถจัดวาระโดยตนเองให้มีการลงมติเลือกบุคคลเดิมที่ไม่ผ่านความเห็นชอบในครั้งแรกซ้ำหลายๆครั้ง ได้ ด้วยเหตุผลตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗๒ และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๑๓๘ ข้อ ๑๓๙ ประกอบข้อ ๔๑

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

คอหวยแตกตื่น!!แห่ร่วมพิธีและส่องเลขหางประทัดพิธีอัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นประดิษฐาน ณ วัดคงคาเลียบเมืองคอน
"เจ๊อ้อย" เปิดใจหลังให้ปากคำเป็นวันที่ 4 พร้อมเอาผิด "ทนายตั้ม" ยืนยันคำเดิม เงิน 71 ล้าน ไม่ได้ให้โดยเสน่หา
"สุสานเนอร์วาน่า" แจงชัดไร้ส่วนเกี่ยวข้อง พิธีซื้อที่ดินสะเดาะเคราะห์ต่อชีวิตของ "หมอดูฮวงจุ้ย"
“อนุทิน” มอง “ปทุมธานี” เป็นเมืองต้นแบบกระจายอำนาจ ยินดี “บิ๊กแจ๊ส” นั่งนายกฯอบจ.
สุดเศร้า ลูกเศร้า กลับจากโรงเรียนเจอพ่อผูกคอดับ ขณะแม่ได้ข้อความขอโทษจากลูกชาย แต่ไม่ได้เอะใจ
จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดงานนมัสการหลวงพ่อโสธรและงานประจำปีจังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 134 ระหว่างวันที่ 12 - 24 พฤศจิกายน 2567 ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา
‘ทนายไพศาล’ ยืนยันไม่ได้เป็นทนายให้ ‘ซินแสดัง’ขออีกฝ่ายอย่าเอารูปถ่ายคู่กันไปแอบอ้าง
งาน CIIE ครั้งที่ 7 เปิดฉากแล้วที่จีน
ตร.เมืองชล ตั้งด่านป้องปรามอาชญากรรม-ยาเสพติดกลางดึก หนุ่มขนยาบ้า 3 แสนเม็ด ขับผ่านด่านแต่ไม่รอด สารภาพรับจ้างขนยา 3 หมื่น ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกจับเสียก่อน
เลือกตั้งสหรัฐเปิดฉากขึ้นแล้ว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น