เหลือเพียงเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงสำหรับการโหวตชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 โดยในฝั่งของ 8 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลมีฉันทามติเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมตรีพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาสำคัญการโหวตนายกรัฐนตรีต้องใช้เสียงจากสองสภาคือทั้ง ส.ส. และส.ว. รวมกันให้ได้ไม่ต่ำกว่า 376 เสียงนั้น เป็นคำถามใหญ่ว่า นายพิธา จะผ่านด่านตรงนี้หรือไม่ โดยเฉพาะเสียงของ ส.ว.จำนวน 250 คนจะยกมือโหวตให้นายพิธามากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับเสียงโหวตของ ส.ว. เท่านั้น และจากการเช็กเสียง ส.ว.ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า ส.ว.ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะไม่โหวต รวมถึงงดออกเสียงเพื่อไม่ให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยแยกเป็น ส.ว.กลุ่มที่ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีทางโหวตให้นายพิธา เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีนโยบายยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งถือเป็นการทำร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นอกจากนี้ยังมี ส.ว.กลุ่มใหญ่ประมาณกว่า 200 คน และแม้ว่า ส.ว.กลุ่มนี้จะยังไม่ได้เปิดเผยความคิดเห็นส่วนตัวชัดเจน แต่คาดว่าจะใช้แนวทางการงดออกเสียง โดยสาเหตุสำคัญคือกรณีที่พรรคก้าวไกลมีนโยบายยกเลิกมาตรา 112 เช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมี ส.ว.จำนวนนึงที่ประกาศจุดยืนว่าจะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุว่าขอยึดหลักการประชาธิปไตยในการเคารพพรรคการเมืองอันดับหนึ่งที่รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล โดย ส.ว.กลุ่มนี้มีประมาณไม่เกิน 10 คน ประกอบไปด้วย 1.นายมณเทียร บุญตัน 2.นางประภาศรี สุฉันททบุตร 3.นายพีระศักดิ์ พอจิต 4.นางประยูร เหล่าสายเชื้อ 5.นางทัศนา ยุวานนท์ 6.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ 7.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 8.นางภัทรา วรามิตร