วันที่ 13 ก.ค. 66 กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) โดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศปปส.พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือถึงสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เพื่อย้ำชัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่รักสถาบันฯ และเพื่อตอกย้ำถึงจริยธรรมของ ส.ว. ที่พึ่งมีต่อผลประโยชน์ชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน
โดยยื่นหนังสือถึงเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีผลผูกพันทุกองค์กรในเรื่องการล้มล้างการปกครอง การเรียกร้องให้มีการแก้ใขรัฐธรรมนูญ(รธน.)ว่าด้วย “พระราชฐานะ” ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรง อยู่ภายใต้ รธน. และอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมือง ตามหลักกฎหมาย รธน. ที่ระบุว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามเข้าไปล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์
จะส่งผลกระทบต่อ “สถานะ” ของสถาบันฯ และนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในที่สุด การแก้ไข รธน.และกฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะเกินควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
ดังนั้นการที่ส.ว.คนใดที่โหวตให้กับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเท่ากับเป็นการสมรู้ร่วมคิดกระทำการขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบาย ที่เป็นปฏิปักษ์ปรปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 นำกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากหมวดความมั่นคง เปลี่ยนแปลงแก้ไขรธน. โดยเฉพาะหมวด 1 และหมวด 2 เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเป็นการลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และหรือล้มล้างการปกครองนั่นเอง อนึ่งส.ว.ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
(ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่ง รธน.แห่ง ราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ดังนั้นการที่สมาชิกวุฒิสภาท่านใดที่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นเท่ากับว่าเป็นการสนับสนุนและหรือสมรู้ร่วมคิดกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ และเหมาะสมหรือไม่ที่จะครองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตามศปปส.จึงอยากเห็นความสง่างามของส.ว. ซึ่งถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในสภาสูงของรัฐสภาอันทรงเกียรติของไทย คงรักษาเกียรตินั้นด้วยชีวิต ดั่งคำปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยถ้อยคำที่ว่า “ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”