ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านคงได้เห็นคำว่า “กกต.มีไว้ทำไม” ในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง โดยคำว่า “กกต.มีไว้ทำไม” น่าจะเกิดจากอารมณ์เหวี่ยง โมโหของพี่น้องชาวด้อมส้มที่ออกอาการไม่พอใจต่อการกระทำตามหน้าที่ของ กกต. โดยเฉพาะการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลกรณีถือครองหุ้นไอทีวี จึงทำให้เป้าโจมตีไปตกที่ กกต.อย่างตั้งใจ ส่งผลให้แฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม ครองอันดับเทรนด์ฮิตในทวิตเตอร์
“กกต.มีไว้ทำไม” เป็นคำถามของชาวด้อมส้มที่ต้องมีคำตอบให้ เพราะน้อง ๆ หนูๆ พวกนี้อาจเกิดหรือเติบโตมาไม่ทัน จึงขาดแก่นความรู้ที่แท้ที่จริง ทำให้ไม่เข้าใจถึงความสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.
ทั้งนี้ความหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติ คือ คณะกรรมการการ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือ จัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ก่อนจะมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.นั้น ประเทศไทยมีกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องการจัดเลือกตั้ง โดยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กระทั่งมีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป 19 ครั้ง ใช้ระยะเวลา 64 ปี ดำเนินการภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการตราขึ้นมาบังคับใช้ในแต่ละห้วงเวลาแต่ละสมัย ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกฉบับบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการมีอำนาจในการออกกฎกระทรวง และระเบียบให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย ส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาโดยตลอด
การจัดเลือกตั้งของกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมาไม่พ้นข้อครหาเรื่องตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากรัฐมนตรีมหาดไทยเป็นบุคคลมาจากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลแต่งตั้ง ดังนั้นทุก ๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง หากรัฐบาล หรือพรรคการเมืองใดที่เป็นคนกุมอานาจรัฐ โดยเฉพาะได้ดูแลกระทรวงมหาดไทย จึงไม่อาจปฏิเสธถึงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากอำนาจของกระทรวงหมาดไทยในสมัยนั้นยิ่งใหญ่ล้นฟ้าคุมการปกครองทางราชการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น กรมการปกครอง ผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ตอนนั้นขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน