การเมืองไทยเริ่มมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลที่ส่อแววจะไปไม่ถึงฝั่งฝันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากพลาดท่าไม่ผ่านด่าน ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระดานการเมืองต่อจากนี้กล่าวได้ว่าเส้นทางการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายพิธาจบลงแล้วแบบเบ็ดเสร็จ
อะไรคือบทสรุปการอวสานของนายพิธา เพราะเกมการเมืองไม่ได้อยู่ในมือของพรรคก้าวไกลมานานแล้ว โดยเฉพาะอาการตายสนิทหลังการไม่ผ่านด่าน ส.ว.ในโหวตนายกรัฐมนตรีในครั้งแรก ซึ่งขณะนี้ทั้งนายพิธา และพรรคก้าวไกลเดินเกมต่อไปด้วยการให้นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาบรรจุวาระการโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สอง ซึ่งตามข่าวอาจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ และถือเป็นความชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดระยะเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าต้องมีกี่ครั้ง
แต่คำถามคือการผลักดันดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ เพราะถ้าดูจากคำให้สัมภาษณ์ของ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” สมาชิกวุฒิสภาที่ระบุถึงถึงการการโหวตนายกฯ รอบต่อไปนั้นต้องไปดูข้อบังคับว่า เมื่อญัตติใดเสนอแล้วตกไปก็ห้ามเสนอใหม่ เปรียบเทียบคล้ายกับการขึ้นศาล แม้สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ต้องมีข้อมูลใหม่ ดังนั้นข้อบังคับจึงระบุว่า เว้นแต่ว่าญัตตินั้นมีสาระใหม่ ถ้าเรื่องนั้นเป็นสาระเดิมไม่น่าจะได้
การให้สัมภาษณ์ของครูหยุยเป็นการอ้างถึงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 41 ระบุว่า “หากญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป” โดยสิ่งที่ครูหยุยให้สัมภาษณ์ในลักษณะปิดประตูเพื่อปิดโอกาสนายพิธาย่อมเป็นเสียงสะท้อนของ ส.ว.จำนวนมากที่คิดแบบเดียวกันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ประธานรัฐสภาอาจพิจารณาให้เสนอญัตติดังกล่าวซ้ำได้ หากพิจารณาว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการเสนอญัตติครั้งก่อน ซึ่งหมายความว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สามารถอนุญาตให้มีการเสนอชื่อนายพิธาอีกครั้งในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ก็เป็นไปได้