เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 66 ที่รัฐสภา นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นครั้งที่สอง ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่น่าเกิดความวุ่นวาย เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเรื่องถึงสว.ก็ปฏิบัติตามมาตรา 272 เพราะเป็นอำนาจของสว. ดังนั้นจะเสนอหรือไม่เสนอนายพิธาก็ไม่ไปก้าวก่าย แต่แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนอชื่อนายพิธาเข้ามา ก็จะเกิดข้อถกเถียง ซึ่งในวันนี้การประชุมกรรมาธิการพัฒนาการเมือง น่าจะมีการพิจารณาข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ว่าญัตติที่ตกไปแล้วไม่สามารถนำกลับมาได้ ในสมัยประชุมเดียวกัน และถ้าวันที่ 19 ก.ค. ยังมีญัตตินี้เข้ามาคงจะมีผู้อภิปรายและประท้วงกันพอสมควร
“สว.จะนำข้อหารือนี้ ไปหารือในวันที่ 19 ก.ค.เลย เพราะทราบว่า 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะหารือกันในวันนี้(17 ก.ค.) จะมีหรือไม่มีนายพิธาก็ยังไม่ทราบ ดังนั้นในวันที่ 19 ก.ค.น่าจะมีความชัดเจน หากมีชื่อนายพิธาก็ไปว่ากันในที่ประชุมวันนั้น” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้ามีการประชุมครั้งที่ 3 มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของฝั่งพรรคเพื่อไทยเข้ามา ส.ว.จะยกมือให้หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ถ้านายพิธาไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลเท่านั้น ส่วนพรรคเพื่อไทยจะไปรวมกับใครก็แล้วแต่ ตอนนี้ ส.ว. ไม่ยอมรับนายพิธา และพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล
ส่วนในครั้งที่ 2 หากมีการเสนอชื่อคนอื่นด้วย ที่ถือว่าไม่ซ้ำญัตติ จะเดินหน้าไปได้โดยที่ไม่มีข้อถกเถียง ตามข้อบังคับการประชุมที่ 41 หรือไม่ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ต้องดูว่า มีชื่อก้าวไกลอยู่หรือไม่ ก้าวไกลและเพื่อไทยไปอำเภอหย่ากันแล้วหรือยัง ถ้าหย่ากันแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหา ถ้าเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีท่านอื่นมา
“หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทุกอย่างจะมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยโดยไม่มีพรรคก้าวไกล ก็มีม็อบอยู่ดี และหากนายพิธาเข้ามาก็มีม็อบอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนตั้งสติ ส.ว.ปฎิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง โดยไม่มีอคติกับใครทั้งสิ้น ถ้าหากพรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยในมาตรา 112 และยังมีเรื่องนิรโทษกรรม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องคิด เพราะนั่นเป็นความขัดแย้งของประชาชนในอนาคตอันใกล้