เมื่อวันที่ 17 ก.ค.66 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน การแถลงทิศทาง การส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ปี 2567 โดยมี นายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา /นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)/ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. และคณะกรรมการ ททท. รวมถึงภาคเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เข้าร่วมงาน
นายพิพัฒน์ ระบุว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้พยามผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติและให้เกิดความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและเร่งด่วนในการยกระดับการท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงในทุกมิติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงรายละเอียดความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว และพร้อมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อมุ่งสู่จุดหมายการเดินหน้าการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในอนาคตให้เติบโตอย่างทั่วถึง สมดุล และยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม อันสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG
โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เป็นการระบุกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงมี การเคารพในศิลปะวัฒนะธรรมท้องถิ่นรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ได้ทำกิจกรรมอยู่ในประเทศนานขึ้นและกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง
ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ททท. ตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2567 ผลักดันรายได้ในระดับใกล้เคียงกับรายได้ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยบนพื้นฐานของสถานการณ์ท่องเที่ยวที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
– รายได้จากต่างประเทศ 1.92 ล้านล้านบาท ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไทย จำนวน 35 ล้านคน
– ตลาดในประเทศ สร้างรายได้หมุนเวียน 1.08 ล้านล้านบาท จากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 200 ล้านคน-ครั้ง
ขณะที่ปี 2566 ยังคงยืนยันเป้าหมายรายได้รวมที่ 2.38 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย ที่ 25-30 ล้านคน
นายยุทธศักดิ์ ระบุว่า ปี 2567 จะเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยสู่บทต่อไปที่ดีขึ้น (Moving forward to Better) ทั้งฝั่ง Supply และ Demand ด้วยหัวใจหลักของการสร้างระบบนิเวศใหม่ที่มีคุณค่า สมดุลและยั่งยืน พร้อมเสริมภูมิคุ้มกันสร้างความมั่นคงทางการท่องเที่ยว ก้าวสู่ High Value and Sustainable Tourism อย่างแท้จริง สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง พัฒนาห่วงโซ่อุปทานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมฯ ให้พร้อมรับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ รวมทั้งกระจายรายได้สู่ฐานรากอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม