จากกรณีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 2 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กล่าวอภิปราย ยืนยันว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 ที่ระบุว่า “ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป” ซึ่งวันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการลงญัตติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ แต่ไม่ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นไปตาม ม.272
ดังนั้นญัตติที่จะกลับมาพิจารณาใหม่ได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งเมื่อวานนี้ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อภิปรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง พร้อมตีความบทกฎหมายว่ายังไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงเลย อีกทั้งการนำเสนอแก้ไข ม.112 ยังนำมาซึ่งความแตกแยก ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาสมาชิกก็มีการอภิปรายขอให้ถอยในเรื่องมาตราดังกล่าวเพื่อจะได้รับเสียงสนับสนุน แต่นายพิธา ก็ยังยืนยันว่าพูดแล้วทำ
ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ว่าเรื่องที่อภิปรายไม่เกี่ยวข้องกับการโหวตนายกรัฐมนตรี และเป็นการอภิปรายเรื่อง ม.112 พร้อมท้าว่าหากจะอภิปรายเรื่องนี้เดี๋ยวจัดให้ เอาหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วไม่อยากขัดการอภิปราย แต่นายอัครเดชกลับอภิปรายในเรื่องที่ไม่อยู่ในร่องในรอย เพราะพรรคได้ชี้แจงไปแล้วว่าไม่ได้อยู่ MOU 8 พรรคร่วม และเราก็พร้อมรับฟังความเห็นต่าง
ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้กล่าวประท้วง ว่าการเป็นประชาธิปไตยต้องเคารพซึ่งกันและกัน
ต่อมา นายอัครเดช ได้อภิปรายต่อว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 36 ระบุไว้ชัดว่าการเสนอนายกฯ เป็นญัตติ พร้อมอ้างถึงความหมายของคำว่า “ญัตติ” ตามความหมายในราชบัณฑิต คือ การเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทน เสนอญัตติเข้าสู่สภา เพื่อเห็นชอบหรือไม่ ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วมีการลงมติการเสนอชื่อนายพิธา เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้ว จึงแปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จึงต้องเคารพกฎหมาย อีกทั้งการที่เรานั่งประชุมอยู่ จะประชุมไม่ได้ ต้องปิดการประชุม และตั้งกรรมาธิการ เพื่อตั้งร่างที่ประชุมใหม่ จึงเห็นว่าญัตติที่เสนอนายพิธา เป็นนายกฯ เป็นข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ดังนั้นการเสนอให้มีการโหวตนายพิธา เป็นนายกฯ อีกครั้ง จึงไม่สามารถทำได้ และเป็นการผิดข้อบังคับและผิดกฎหมาย