หลังจากเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวในงาน “Meet the Press” ว่า สำหรับความคืบหน้าธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ธปท.จะร่างหลักเกณฑ์ใบอนุญาต Virtual Bank ออกภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เพื่อเสนอต่อกระทรวงการคลัง และจะเปิดรับสมัครภายในสิ้นปี 2566 และประกาศชื่อผู้ได้รับอนุมัติภายในปี 2567 และสามารถดำเนินธุรกิจได้ภายในปี 2568 โดยปัจจุบันมีผู้ที่สนใจพอสมควร และมาเป็นแพคที่มีความเชี่ยวชาญคนละด้าน
ทั้งนี้ โจทย์ที่ ธปท.อยากเห็นใน Virtual Bank คือ อยากเห็นการแข่งขันในรูปแบบใหม่ ๆ และสามารถให้บริการกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Underserved) อย่างไรก็ดี คนที่จะเข้ามาทำ Virtual Bank จำนวนอาจจะต้องไม่มากนัก แต่จะต้องใหญ่พอ เพื่อสามารถแข่งขันกับรายเดิมได้ จึงเป็นที่มาของใบอนุญาต (License) 3 ราย และทุนจดทะเบียนอีก 5,000 ล้านบาท
และหากเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นว่ามีการอนุญาตไลเซนส์ 3-4 แห่งบวกลบ เช่น สิงคโปร์ 4 ไลเซนส์ มาเลเซีย 5 ไลเซนส์ และเกาหลีใต้ 3 ไลเซนส์ แต่หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Full Branch) ของไทย ถือว่าไม่น้อย โดยไทยมีธนาคารทั้งสิ้น 17 แห่ง เทียบกับเกาหลีใต้ 52 แห่ง มาเลเซีย 42 แห่ง และสิงคโปร์ 34 แห่ง จึงมองว่าจำนวนใบอนุญาตไม่น้อยเมื่อเทียบกับธนาคารที่มีอยู่
ขณะเดียวกัน วงเงินทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาทนั้น มองว่า Virtual Bank เป็นธุรกิจที่ไม่ง่าย และจะเห็นว่าการเปิดประกอบธุรกิจในปีแรก ๆ จะขาดทุน เพราะมีการลงทุนทางด้านระบบไอที การหาลูกค้า โอกาสขาดทุนสูง โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากดูตัวอย่าง เช่น KakaoBank ใช้เวลา 3 ปีถึงจะกำไร หรือของอังกฤษใช้เวลา 6 ปี หรือในออสเตรเลียที่ขาดทุนและต้องปิดกิจการไป ซึ่งมีทุนจดทะเบียนกว่า 3,000-5,000 ล้านบาท
ดังนั้น ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ เพราะถ้าเทียบกับธนาคารในระบบปัจจุบันธนาคารขนาดเล็กอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท หรือธนาคาร D-SIB อยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท
“ในท้ายที่สุดใบอนุญาต 3 ราย หากสามารถทำแล้วประสบความสำเร็จ ธปท.ก็สามารถพิจารณาเปิดเพิ่มได้อีก เพราะธุรกิจธนาคารไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นร้านขายของที่ปิดไปแล้วประชาชนไม่เดือดร้อน แต่ธนาคารปิด คือ เดือดร้อน เพราะมีการรับฝากเงินของประชาชน เหมือนธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งตอนอยู่ไม่ได้มีความสำคัญเชิงระบบ แต่เวลามันตายก็เป็นปัญหาเชิงระบบ ดังนั้น หากเราเปิดจำนวนมากเกินไป เราก็ต้องตามไปปิดชัวร์ ซึ่งเป็นเรื่องปวดหัว”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับคำถามว่าหากมีการเปิดธนาคารจำนวนเยอะจะช่วยเรื่องการแข่งขันและดอกเบี้ยนั้น มองว่า อาจเป็นไปได้ และก็อาจจะไม่ได้ เพราะหากดูตัวอย่างธุรกิจเช่าซื้อ ที่มีผู้ประกอบการหลักพันราย แต่จะเห็นว่าดอกเบี้ยจะกระจุกตัวอยู่ที่เพดาน เป็นผลมาจากความเสี่ยงของผู้กู้ ดังนั้น ดอกเบี้ยจะลดลง ไม่ใช่เป็นจำนวนของผู้เล่น แต่มาจากความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งมองว่า Virtual Bank 3 ราย ไม่น้อยและไม่เยอะมากเกินไป