การรักษาความสงบและความมั่นคงภายในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังสั่นคลอนและถูกท้าทายอีกครั้งหลัง ส.ส.พรรคก้าวไกลเดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อเสนอร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ 2 ชุด รวม 7 ฉบับ โดยเป็นชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือการยกเลิก พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เพื่อดำเนินการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
การเดินเกมของก้าวไกลในเรื่องยุบ กอ.รมน. ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กสอดรับการเดินทางของ ส.ส.พรรคก้าวไกลในการเสนอร่างกฎหมายเพื่อหวังจะเปลี่ยนประเทศว่า วันนี้ที่สภาฯ มีมูฟสำคัญเกี่ยวกับ สันติภาพ ในชายแดนใต้/ปาตานี โดยเรื่องแรกคือการริเริ่มตั้งต้นยุบ กอ.รมน. ด้วยการเสนอร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการ อีกเรื่องเป็นการเข้าชื่อเสนอญัตติให้สภาผู้แทนฯจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าเรื่องการสร้างสันติภาพ
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายร้ายในการปฏิรูปกองทัพโดยมุ่งไปที่การแก้ไขร่างพรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ,ร่างพรบ.กฎอัยการศึก และ ร่างพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 โดยเป้าหมายของก้าวไกลเป็นเสมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ เพราะนี่คือการปฏิวัติระบบความมั่นคงภายในประเทศแบบยกเครื่อง
การยกเลิกพรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 ด้วยการยุบ กอ.รมน. มีเรื่องต้องให้วิเคราะห์กันว่า กอ.รมน.เป็นตัวถ่วงต่อการรักษาความสงบในประเทศหรือเป็นองค์กรที่บ่อนทำลายความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่พรรคก้าวไกลให้ร้ายไว้หรือไม่ และหากไม่มี กอ.รมน.จะเกิดอะไรจะเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่ดังกล่าว
พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ถือกำเนิดจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 51 โดยสาระสำคัญในมาตรา 5 ให้จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.โดยมีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
บทบาทของกอ.รมน. มีอำนาจในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมถึงการเสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการอำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และยังมีอำนาจดำเนินการ-ประสานงานข้ามหน่วยราชการส่วนต่างๆ ได้อีก