ตุรเคียเตรียมแก้กฎผู้ขอลี้ภัยเข้าประเทศ ให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ในการพิจารณาตุรเคียเข้าเป็นประเทศสมาชิก หลังรอมาหลายปี
หนังสือพิมพ์ฮูริเยต หนึ่งในหนังสือพิมพ์รายใหญ่ของตุรเคีย รายงานโดยอ้างถึงแหล่งข่าวทางการทูต ที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า ตุรเคียจะแก้ไขนโยบายคนเข้าเมือง เพื่อทำให้ผู้ขอลี้ภัยได้รับการพิจารณาขอสัญชาติได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวซีเรีย เนื่องจากสิ่งนี้ คือสิ่งที่สหภาพยุโรปมีความกังวล เพราะมีความเป็นไปได้ที่ผู้ลี้ภัยจะได้รับวีซ่าผ่านจากตุรเคีย ไปยังประเทศต่างๆของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การหลั่งไหลของอดีตผู้ขอลี้ภัยไปยังประเทศอื่นๆได้
แหล่งข่าวระบุต่อว่า สหภาพยุโรปยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถทำได้ กับเงื่อนไขที่ว่า ตุรเคียต้องปกป้องพรมแดนเป็นอย่างดี และรับประกันว่า จะป้องกันการอพยพของผู้อพยพไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ทั้งนี้ นอกเหนือจากการควบคุมคนเข้าเมืองแล้ว กฎเหล่านี้ยังรวมถึงกฎการต่อต้านการก่อการร้าย และการต่อต้านการทุจริต, การร่วมมือกับยูโรโพล หน่วยงานตำรวจของยุโรป, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, และความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการยอมรับในเสรีภาพของการแสดงออก และความเข้ากันได้ของสิ่งนี้ กับมุมมองของตุรเคียในประเด็นต่างๆ เช่นการประท้วงในที่สาธารณะด้วย โดยมีตัวอย่างล่าสุด คือการเผาคัมภีร์อัลกุรอานเมื่อเร็วๆ นี้ในสวีเดน ซึ่งผู้นำตุรเคียมีท่าทีแข็งกร้าวในทีแรก ก่อนที่จะอ่อนลงในที่สุด
ตุรเคียได้รับสถานะผู้สมัครของสหภาพยุโรปในปี 1999 การอภิปรายเกี่ยวกับการภาคยานุวัติสหภาพยุโรปมักจะใช้เวลาประมาณหนึ่งทศวรรษ แต่ตุรเคียก็ใช้เวลามากว่า 18 ปี จนเมื่อปี 2018 สหภาพยุโรประงับการเจรจา เพราะมีประเด็นสิทธิมนุษยชน จากการรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อปี 2016 รวมถึงยังมีข้อกังวลของสหภาพยุโรป เกี่ยวกับการอนุญาตให้ประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเข้าสู่สหภาพยุโรป เพราะอาจมีการขยายพรมแดนของกลุ่มไปทางตะวันออกสู่ซีเรีย อิหร่าน และอิรักด้วย