หลังจากมีผลการวิจัยของศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย หรือ TPAK ที่ได้สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมและผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ โดยระบุว่า จำนวนการบ้านมากขึ้น, เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง,เครียด วิตกกังวล โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.6 เตรียมศึกษาต่อ ม.1และ ม.6 เตรียมศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เพราะกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนที่ดีรับเข้าเรียน นั้น
ล่าสุด นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนออนไลน์แล้ว เช่น มีนโยบายลดภาระผู้เรียน ทั้งสายสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา โดยปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ต้องรู้ ลดเวลาเรียนหน้าจอ, ให้การบ้านเท่าที่จำเป็น โดยครูแต่ละวิชาร่วมบูรณาการในการให้การบ้าน, การวัดประเมินผลเน้นหลักฐานการเรียนรู้ มากกว่าการสอบ, เลิกใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต เป็นองค์ประกอบของผลการตัดสินจบการศึกษา และการเข้าศึกษาต่อทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้รัฐบาล ได้มีมาตรการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนทุกคน คนละ 2,000 บาท ฯลฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า กระทรวงมีมาตรการและแนวปฏิบัติต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งสถานศึกษาบางแห่งก็ปรับได้เร็ว แต่บางแห่งก็ไม่ปรับตัว จัดตารางสอนออนไลน์เหมือนที่เรียนในโรงเรียน ไม่ลดเวลาเรียน ครูยังให้การบ้านนักเรียนจำนวนมาก ซึ่งตนได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. ให้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ติดตามสถานศึกษาเป็นรายโรงเรียน ได้ปฏิบัติตามนโยบายลดภาระผู้เรียน โดยหลังจากนี้เวลาเรียนหน้าจอ และการบ้านของนักเรียนต้องลดลงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งเร็วๆนี้ ตนจะเปิดช่องทางรับฟังปัญหาจากครูโดยตรง เพื่อให้ครูสามารถสะท้อนปัญหาการทำงานที่เกิดขึ้นจริงในบริบทที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะรับไปพัฒนาแนวทางช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับแต่ละบริบทต่อไป