เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในวันที่ 3 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งรับ-ไม่รับคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยกรณีรัฐสภาลงมติไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำเป็นครั้งที่สองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผลการวิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรคงไม่อาจก้าวล่วงได้
ทั้งนี้จากการรวบรวมความคิดเห็นจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนักกฎหมายมหาชนได้คาดการณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ดังนี้
สำหรับกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องจะมี 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1.ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะไปดำเนินการกันเอง ซึ่งข้อนค้างชัดเจนถ้าศาลจะเลือกทางนี้ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 148 และ 149 เขียนไว้ชัดเจนว่า ร่างข้อบังคับของสภาไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทน วุฒิสภา หรือรัฐสภานั้น หากยังเป็นร่างสามารถส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพิจารณาได้ว่าขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องว่า ถ้าเป็นข้อบังคับจะทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญอาจพิจารณาว่า การที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ และข้อบังคับที่ผ่านการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญตอนที่เป็นร่าง จึงกลายเป็นเรื่องของฝ่ายสภาที่จะดำเนินการ และสิ่งนี้คือกรณีท่หนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับ
ลักษณะที่ 2. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า เรื่องที่เป็นการกระทำโดยรัฐบาลจะไม่เข้าข่ายในการที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้สำหรับเรื่องที่เป็นการกระทำโดยรัฐบาลในการประชุมการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นของบรรดาผู้ที่เป็นคนยกร่างระบุไว้ว่า การกระทำของรัฐบาลมี 3 ลักษณะ คือ 1.การกระทำโดยคณะรัฐมนตรี 2.การกระทำที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อรัฐสภา และ 3.การกระทำที่เป็นความรับผิดชอบของรัฐสภาต่อรัฐบาล
ดังนั้นจึงต้องมาดูว่า ขณะนี้เรามีรัฐบาลหรือไม่ และต้องมาดูว่าการกระทำของรัฐสภาที่เกี่ยวข้องกับการได้มาของนายกรัฐมนตรีเป็นความรับผิดชอบของรัฐสภาต่อรัฐบาลหรือไม่ และถ้าใช่ ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่รับพิจารณา เนื่องจากเป็นการกระทำทางนิติบัญัติ จึงไม่สามารถก้าวล่วงกันได้ ส่วนการกระทำโดยรัฐบาลต้องตีความในกรอบกว้างโดยรวมถึงการกระทำของรัฐสภาด้วยที่มีผลต่อรัฐบาล ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำร้องไว้พิจารณา