นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร ส.ส. เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นว่า หากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ประกาศกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ กระบวนการทางกฎหมายที่นายทักษิณต้องเจออันดับแรก คือ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าควบคุมตัวที่สนามบิน เนื่องจากนายทักษิณถูกศาลฎีกาฯซึ่งเป็นศาลสูงสุดพิพากษาให้จำคุก 4 คดี รวมอัตราโทษจำคุก 10 ปี เมื่อนายทักษิณเดินทางถึงประเทศไทย ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ตามปกติเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะไปรอรับเพื่ออายัดตัวตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะคุมตัวจำเลย/ผู้ต้องคำพิพากษาขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง แล้วส่งตัวเข้าเรือนจำทันที
“อาจารย์อุ๋ย” อดีตผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปัตย์ แจงกระบวนการทางกฎหมาย เมื่ออดีตนายกทักษิณกลับไทย ชี้มาถึงต้องเข้าคุกก่อนอันดับแรก เผยมีสิทธิขออภัยโทษเฉพาะราย
ข่าวที่น่าสนใจ
นายประพฤติ จากนั้นนายทักษิณก็จะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพราะคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและโทษที่นายทักษิณต้องรับยังไม่เกิน 15 ปี ถือว่ายังอยู่ในอำนาจคุมขังของเรือนจำพิเศษ และทันทีที่ไปถึงเรือนจำ ต้องมีการ ตรวจสุขภาพ ทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ และให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวตามระเบียบเรือนจำ โดยผู้ต้องขังใหม่จะอยู่ใน “แดนแรกรับ” ราว 3 สัปดาห์ ก่อนส่งเข้าสู่แดนต่าง ๆ ของเรือนจำตามอัตราโทษที่ได้รับ ระหว่างนี้อาจมีการกักตัวเพื่อหาเชื้อโควิด และจัดมาตรการเฉพาะเพื่อสุขภาพให้กับคุณทักษิณ เพราะเป็นผู้สูงอายุและอาจมีโรคประจำตัว
ส่วนกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษนั้นสามารถเริ่มได้ทันทีหลังจากที่นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการรับโทษที่เรือนจำ ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 175 และ มาตรา 179 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ถึง มาตรา 267 การพระราชทานอภัยโทษมี 2 ประเภท คือ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งมักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก รัชมังคลาภิเษก ฯลฯ ซึ่งทางราชการจะดำเนินการให้ทุกขั้นตอน ผู้ต้องขังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ อย่างไรก็ดี กรณีเช่นนี้ผู้ขอพระราชทานต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือไม่น้อยกว่าแปดปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ซึ่งโทษที่นายทักษิณได้รับในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วคือ 10 ปี จึงต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี 3 เดือน จึงจะถือว่ามีคุณสมบัติ ดังนั้นนายทักษิณจึงยังไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้
ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย เป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งสามารถยื่นขอได้เลยในวันแรกหลังจากได้รับโทษ โดยผู้ที่มีสิทธิยื่นเรื่องทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษโดยยื่นเรื่องผ่านเรือนจำ จากนั้นกรมราชทัณฑ์ก็จะสอบสวนเรื่องราวไปยังเรือนจำที่ควบคุมตัวผู้ต้องโทษ และเสนอความเห็นให้ รมว.ยุติธรรม ลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ และหากยื่นแล้วถูกยก ต้องรออีก 2 ปี ถึงจะยื่นใหม่ได้
ทั้งนี้ นายประพฤติทิ้งท้ายว่า การกลับประเทศไทยเพื่อมารับโทษตามคำพิพากษาของอดีตนายกทักษิณถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการปลดล็อกความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยที่ดำเนินมากว่า 16 ปี แล้ว ยังแสดงให้นานาอารยประเทศเห็นว่ากฎหมายไทยมีความศักดิ์สิทธิ์และไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-