รื้อฉาว “สวนปาล์ม อินโดฯ” ค่าโง่ธรรมาภิบาล ปตท. 2 หมื่นล้าน

รื้อฉาว "สวนปาล์ม อินโดฯ" ค่าโง่ธรรมาภิบาล ปตท. 2 หมื่นล้าน

ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ สำหรับองค์กรรัฐวิสาหกิจดีเด่น อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จากกรณี บริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE. บริษัทลูกของ ปตท. ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด ให้ไปลงทุนปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับพบความไม่ชอบมาพากล ในหลายกรณี ทั้ง

1.ข้อกล่าวหาการจ่ายค่านายหน้าแพงเกินจริงกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ กว่าหนึ่งพันล้านบาท

2. การลงทุนซื้อที่ดินที่เกิดขึ้น กลายเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ โดยทางการอินโดนีเซีย ไม่สามารถออกเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรมได้ ทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

และ 3.การกล่าวหาว่าการจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว มีการจ่ายค่านายหน้าสูงกว่าผิดปกติถึง 40%

สรุป รวมค่าเสียหายจากการลงทุนโครงการปลูกสวนปาล์มอินโดฯ ทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

จุดสำคัญคือ กรณีดังกล่าว มีการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องผ่านปปช. แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง และ ผู้รับผิดชอบในฐานะผู้บริหาร รวมถึง บอร์ดบริหาร ในฐานะผู้ดำเนินโครงการในแต่ละยุคสมัย ยิ่งเกิดข้อคำถามมากมายถึงความเอาจริงเอาจัง กับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น กับ สูญเสียเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน

ทั้ง ๆ ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรธุรกิจที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ บรรษัทภิบาล หรือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี 5 ข้อสำคัญ ประกอบด้วย

1.ความซื่อสัตย์ (Integrity) คือ การบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตน่าเชื่อถือ และยึดมั่นในความถูกต้อง
2.ความยุติธรรม (Fairness) คือ การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม
3.ความโปร่งใส (Transparency) คือ การดำเนินงานที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้
4.ความรับผิดชอบ (Responsibility) คือ การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง มุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น
5.ภาระรับผิดชอบ (Accountability) คือ ความรับผิดและรับชอบในผลของการกระทำที่เกิดขึ้น อันเนื่องจากการกระทำ การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจ ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยสามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้

ในทางกลับกันที่ผ่านมา บมจ.ปตท. ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจต้นแบบเรื่องธรรมาภิบาล กลับถูกนักการเมือง กลุ่มการเมือง ทุกยุคสมัย พยายามหาช่องทางเข้าไปในประโยชน์จากเม็ดเงินผลกำไรมูลค่ามหาศาล ดังจะเห็นได้จากภาพความเป็นรูปธรรมทางการเมือง เมื่อกลุุ่ม หรือ พรรคการเมืองใด เป็นแกนนำรัฐบาล ก็จะส่งบุคคลของตนเอง เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ทำหน้าที่โดยตรงในการกำกับ บมจ. ปตท.

ทั้งนี้ แม้กระทรวงพลังงาน จะมีหน่วยงานในสังกัดไม่มาก แต่มีความหมายสำหรับประเทศ เพราะมีหน้าที่หลักในการจัดหา พัฒนาและบริหารกิจการพลังงาน ดูแลจัดการเกี่ยวกับพลังงานของประเทศสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ความยิ่งใหญ่ของกระทรวงพลังงานที่นักการเมืองจำนวนไม่น้อย อยากเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี นอกจากเป้าหมายในกระทรวงแล้ว ที่สำคัญยังเป็นกระทรวงที่ มีความเกี่ยวโยงไปยังภาคเอกชนด้านพลังงานของประเทศนั่นเอง

โดยหน่วยงานในสังกัดประกอบด้วย

– สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน
– กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
– กรมธุรกิจพลังงาน
– กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
– สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
– สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน)
– สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

 

รวมถึง 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชน ในกำกับดูแล ประกอบด้วย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

 

 

14 รมว.พลังงาน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง “กระทรวงพลังงาน” ประกอบด้วย

1. 3 ตุลาคม 2545 – 8 กุมภาพันธ์ 2546 นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
2. 8 กุมภาพันธ์ 2546 – 6 มกราคม 2548 นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
3. 11 มีนาคม 2548 – 19 กันยายน 2549 นายวิเศษ จูภิบาล รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

 

 

4. 9 ตุลาคม 2549 – 6 กุมภาพันธ์ 2551 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
5. 6 กุมภาพันธ์ 2551- 9 กันยายน 2551 พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
6. – 9 กันยายน 2551 – 2 ธันวาคม 2551 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
– 20 ธันวาคม 2551 – 9 สิงหาคม 2554 นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

7. 9 สิงหาคม 2554 – 18 มกราคม 2555 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
8. 18 มกราคม 2555 – 28 ตุลาคม 2555 นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
9. 28 ตุลาคม 2555 – 22 พฤษภาคม 2557 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

10. 30 สิงหาคม 2557 – 19 สิงหาคม 2558 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐบาลคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
11. 19 สิงหาคม 2558 – 23 พฤศจิกายน 2560 พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
12. 23 พฤศจิกายน 2560 – 10 กรกฎาคม 2562 นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

13. 10 กรกฎาคม 2562 – 15 กรกฎาคม 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
14. เริ่มวาระ 5 สิงหาคม 2563 – จนถึงปัจจุบัน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

เมื่อย้อนดู ก่อนจะมาเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2521 ตามพระราชบัญญัติ
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 เพื่อดำเนินธุรกิจหลักด้านปิโตรเลียมและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียม

และภายใต้สภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น รัฐบาลได้เล็งเห็นความจำ เป็นในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในกิจการพลังงาน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เห็นชอบแผนการจัดตั้งบริษัท เพื่อรองรับการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

ในวันที่ 25 กันยายน 2544 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 – 19 กันยายน 2549 มีมติเห็นชอบในการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยจัดตั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปลงทุนของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นทุนเรือนหุ้นโดยให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นใน ปตท. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 และให้ปตท. คงสถานะเป็นบริษัทนํ้ามันแห่งชาติ

 

 

และในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 20,000 ล้านบาท และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ คงสภาพรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

ขณะที่การกำหนดทิศทาง หรือ นโยบายต่าง ๆ ของบมจ.ปตท. ล้วนต้องสอดต้องไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย เนื่องจากโครงสร้างผู้ถือหุ้น บมจ.ปตท. (ล่าสุด ณ 3 มี.ค.66 ) ประกอบด้วย

1. กระทรวงการคลัง จำนวน 14,598,855,750 หุ้น สัดส่วน 51.11%
2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,736,895,500 หุ้น สัดส่วน 6.08%
3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,736,895,500 หุ้น สัดส่วน 6.08%
4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวน 1,268,524,618 หุ้น สัดส่วน 4.44%
5. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED จำนวน 529,261,445 หุ้น สัดส่วน 1.85%

 

 

6. สำนักงานประกันสังคม จำนวน 503,269,619 หุ้น สัดส่วน 1.76%
7. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด จำนวน 485,556,000 หุ้น สัดส่วน 1.70%
8. STATE STREET EUROPE LIMITED จำนวน 352,134,257 หุ้น สัดส่วน 1.23%
9. สหกรณ์ออมทรัพย์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวน 348,998,700 หุ้น สัดส่วน 1.22%
10. THE BANK OF NEW YORK MELLON จำนวน 331,343,665 หุ้น สัดส่วน 1.16%

 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พบว่าหลายโครงการ ตามแนวนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ รัฐบาล มีทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อบมจ.ปตท. และ ประเทศชาติโดยรวม แต่ก็มีบางโครงการที่สร้างปัญหา เช่น โครงการลงทุนปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย

 

โดยสรุปไทม์ไลน์ของเหตุการณ์สำคัญ ๆ ดังนี้

– พ.ย.49 เริ่มโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม หลัง บอร์ด ปตท. อนุมัติหลักการลงทุนในอินโดนีเซีย

– 15 เม.ย.50 บอร์ด ปตท. มีคำสั่งที่ 60/2550 ให้ “นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ปฏิบัติงาน Secondment PTT ตำแหน่งผู้ช่วยสังกัดกรรมการผู้จัดการใหญ่

– 20 เม.ย.50 บอร์ด ปตท. เห็นชอบให้ตั้ง Holding Company และสอบทานข้อมูลเป้าหมายทั้ง 5 แห่ง (โครงการ PT.Az Zhara / PT.MAR Pontianak / PT.MAR Banyausin / PT.FBP และ PT.KPI) เจรจาราคา เงื่อนไข

– 11 มิ.ย.50 ปตท. จัดตั้งโครงการพัฒนาธุรกิจปาล์มน้ำมัน พร้อมแต่งตั้ง “นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” เป็น ผอ.โครงการ สังกัด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงินและบัญชีองค์กร

 

 

– 22 มิ.ย.50 บอร์ด ปตท. เห็นชอบการตั้ง Holding Company โดยมี ปตท. ถือหุ้น 100% ที่สิงคโปร์

– 14 ก.ย. 50 จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท PTT.GE Singapore เป็น Holding Company ที่ ปตท. ถือหุ้น 100%

– 25 พ.ย.50 บอร์ด ปตท. เห็นชอบการลงทุนใน PT.Az Zhara และ PT.MAR Pontianak โดยอ้างงานข้อมูลของ JP Morgan ว่า ราคาหุ้นทั้งสองโครงการ สูงกว่าราคาที่ ปตท. จะซื้อ

 

 

– 21 ธ.ค.50 เริ่มต้นโครงการ PT.MAR Bonyuasin โดยบอร์ด ปตท. อนุมัติกรอบลงทุนในพื้นที่ ไม่เกิน 500,000 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ ประมาณ 6 ไร่) ในเวลา 5 ปี กำหนดราคาการใช้สิทธิบนที่ดินเปล่า (Greenfield) ไว้ไม่เกิน 600 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ และอนุมัติซื้อหุ้น PT.SHS (คือ PT.MAR Banyuasin) ในวงเงิน 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

– 21 มี.ค.51 บอร์ด ปตท. อนุมัติซื้อสินทรัพย์ PT.SHS (คือ PT.MAR Banyuasin) และอนุมัติเงินพัฒนาโครงการ 44 MUSD ในระยะเวลา 7 ปี รวมทั้งอนุมัติหลักเกณฑ์การลงทุน และเงินลงทุนจำนวน 315 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับซื้อสิทธิบนที่ดินเปล่า อีก 3-3.5 แสนเฮกตาร์ ที่ราคาไม่เกิน 900 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์

 

 

– 21 พ.ย.51 บอร์ด ปตท. เห็นชอบให้ลงทุนโครงการ PT.MAR Banyuasin 70% วงเงิน 86.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

– 16 ม.ค.55 บอร์ด ปตท. อนุมัติกรอบการขยายบริเวณเพาะปลูกและพัฒนาโครงการส่วนขยายของ PT.Az Zhara (ต่อมาคือโครงการ PT.KPI) และโครงการอื่น ๆ ในอินโดนีเซียอีกไม่เกิน 2 แสนเฮกตาร์

 

 

– ปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ พร้อมสั่งดำเนินการตรวจสอบ โครงการลงทุน “สวนปาล์ม อินโดนีเซีย” (บอร์ด ปตท.ลาออกยกชุด)

– ปี 2557 ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานบอร์ด บมจ.ปตท. (ขณะนั้น) ส่งเรื่องฟ้องป.ป.ช. ตรวจสอบ

 

 

ส่วนรายชื่อผู้บริหาร บมจ.ปตท.ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “สวนปาล์ม อินโดนีเซีย” ในแต่ละยุคสมัย ประกอบด้วย

-นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (กันยายน 2546 – กันยายน 2554)

-นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร (กันยายน 2554 – กันยายน 2558)

-นายเทวินทร์ วงศ์วานิช (กันยายน 2558 – สิงหาคม 2561)

-นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร (สิงหาคม 2561- พฤษภาคม 2563)

และ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ (พฤษภาคม 2563 – ปัจจุบัน ) ที่ถูกคาดหวังว่าจะทำให้ปัญหาทั้งหมด ได้รับการสะสาง นำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

 

 

 

 

ขณะที่ รายชื่อประธาน บอร์ด บมจ.ปตท. ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติโครงการลงทุน โครงการ “สวนปาล์ม อินโดนีเซีย” ในแต่ละช่วงเวลาเหตุการณ์ ประกอบด้วย

1.นายมนู เลียวไพโรจน์ ปี 2544-2545

2. นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปี 2546-2550

3. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ 18 ม.ค.51-24 ธ.ค.53 และ 29 เม.ย.54-1 ก.พ.56 (นายนริศ ชัยสูตร รักษาการประธานกรรมการ 24 ธ.ค.53-เม.ย.54)

 

 

สุดท้ายถึงแม้ว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ พีทีอี ลิมิเต็ด หรือ PTTGE จะอ้างถึงผลดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย กับการยื่นฟ้องต่อ นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งต่อมาถูกดึงตัวมาเป็นผู้อำนวยการ โครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม ในนามของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่า 20,000 ล้านบาท

และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของบริษัท ปตท.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ (PTTGE) เนื่องจากพบว่า มีการดำเนินผิดปกติ โดยเฉพาะการเข้าไปซื้อที่ดินจำนวนมากเพื่อปลูกปาล์มและการสร้างโรงงานสกัดน้ำมัน

โดยในสำนวนคำฟ้องดังกล่าว ระบุตอนหนึ่งว่า การจัดหาที่ดินเพื่อปลูกปาล์มในโครงการและการดำเนินโครงการนี้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียหาย และสูญเสียเงินในการลงทุน โดยนายนิพิฐ ถูกกล่าวหาว่า เป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่ประเด็นสำคัญยังไม่พบว่า ผู้บริหาร บมจ.ปตท. ได้ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิด อดีตซีอีโอ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอโครงการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย และผู้บริหารในระดับ บอร์ด บมจ. ปตท. จนทำให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือไม่ อย่างไร

 

 


“ใหม่ Galaxy Z Fold 5 | Flip 5 สีพิเศษ โปรสุดคุ้ม จองวันนี้รับส่วนลดสูงสุด 6 ต่อ

🔥 เพิ่มความจุเป็น 2 เท่า มูลค่าสูงสุด 10,000.-
🔥 ฟรี! Samsung Care+ 2 ปี มูลค่าสูงสุด 19,990.-
🔥 เก่าแลกใหม่ลดสูงสุด 6,500.-
🔥 ส่วนลด 30% เมื่อซื้อ Watch 6 series
🔥 รับเครดิตเงินคืน 5%* สูงสุด 3,300.-
🔥 ลูกค้าใหม่ โค้ด NEWMEM ลดเพิ่ม 1,000.-

จำนวนจำกัด 1,000 เครื่องเท่านั้น
เฉพาะที่ samsung.com

📅 26 ก.ค. – 10 ส.ค. 66
*เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯกำหนด”

คลิกเพื่อพรีออเดอร์ได้ที่นี่ : https://omgrefer.com/w14hd

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เบิร์ด วันว่างๆ” ขอบวชอุทิศให้ “แบงค์ เลสเตอร์” ยันทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องหยอกเย้า
กกต.ยกคำร้องยุบ "พรรคภูมิใจไทย" ปมรับเงินบริจาค
ผู้นำมาเลย์เปิดภาพพบ “ทักษิณ” แจงถกประเด็นสำคัญระดับภูมิภาค
ฟาร์มค้าสัตว์ชื่อดัง ส่อเอี่ยวลอบนำเข้า "ลูกกอริลลา" หลังพบพิรุธเบี้ยวให้การตร.
"สรรเพชญ" กระทุ้งรัฐอีกรอบ อย่าดีแต่พูด เร่งแก้ปัญหาศก.ปากท้อง หนี้ครัวเรือนปชช.
จุดจบ “ทริปน้ำไม่อาบ” รวบเมลาย-ภรรยา ขยายผลจับยาบ้าบิ๊กล็อต 15 ล้านเม็ด
ผบช.น.สั่งสอบเอาผิด "กลุ่มอินฟลูฯ" ทำคอนเทนต์บูลลี่ "แบงค์ เลสเตอร์"
"อัจฉริยะ" ร้องสอบ "อัยการปรเมศวร์" หลังให้สัมภาษณ์ "คดีแตงโม" บิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมหอบเงินล้าน ท้าพิสูจน์ความจริง
อุบัติเหตุสลด รถพ่วง 18 ล้อ ข้ามเกาะกลาง พุ่งชนรถตู้ เสียชีวิต 2 ราย
"ชัยนาท" การจราจรถนนสายเอเชีย เริ่มหนาแน่น ปชช.ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ฉลองเทศกาลปีใหม่

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น