สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ดูเหมือนจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มลดลงเรื่อยๆ และมีผู้หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ จากเดิมที่การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อเนื่องกันยาวนาน ถึงขั้นเคยทำสถิตินิวไฮถึง 23,418 คน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะเกินศักยภาพที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์จะรับไหว
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา สถานการณ์ก็เริ่มนิ่ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวัน ค่อยๆลงมาอยู่ระดับ 2 หมื่นคนต่อเนื่องกันหลายวัน จนกระทั่ง 2 วันล่าสุด ก็มีข่าวดีเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาอยู่ที่หนึ่งหมื่นเจ็ดพันคนต่อวัน ส่วนผู้ที่รักษาหายก็อยู่ที่หลัก 2 หมื่นคนต่อวัน โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 17,491 คน รักษาหาย 22,134 คน ถัดมาอีกหนึ่งวัน วันที่ 24 สิงหาคม มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอีกเหล็กน้อยมาอยู่ที่ 17,165 คน รักษาหาย 20,059 คน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค.ชี้ว่า เป็นผลจากการทำหลายมาตรการด้วยกัน เช่น การล็อกดาวน์ การตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนกลุ่มเสี่ยง พร้อมทั้งเชื่อว่า สถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทย น่าจะมาถึงจุดพีคแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนผู้เสียชีวิต ยังคงอยู่ในระดับที่สูง มีผู้เสียชีวิตหลักสองร้อยคนต่อวัน โดย ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามกดตัวเลขลง ซึ่งมาตรการสำคัญคือ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชาชนที่ป่วย 7 โรคเสี่ยง เนื่องจากข้อมูลผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ต่างเป็นผู้สูงอายุและผู้มีโรคเสี่ยง
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19ของไทยในเวลานี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่คาดการณ์ว่า สถานการณ์โควิดของไทยหลังวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์แย่ที่สุด ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงถึง 22,000 ราย ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นกันยายน แล้วจะค่อย ๆ ลงมาในเดือนตุลาคม ซึ่งก็ต้องเอาใจช่วยและร่วมไม้ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นโดยเร็ว รัฐบาลจะได้คลายล็อกให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตทำมาหากินได้ตามปกติภายใต้วิถีชีวิตใหม่ ขณะที่ให้ ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ก็ต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายให้ได้ตามแผน เพื่อลดตัวเลขผู้เสียชีวิต และให้เป็นตามแผนระยะเร่งด่วน ที่จะฉีดให้ได้ 50 ล้านโดสในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้เปิดประเทศต้องรับชาวต่างชาติได้ตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี