วันที่ 3 ส.ค.66 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวขอสมาชิกรัฐสภาร่วมปิดสวิซต์ส.ว.ผ่านการลงมติร่างแก้ไขรธน.ม.272 ที่ถูกเลื่อนพิจารณาขึ้นมาแทนวาระโหวตนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เลื่อนการวินิจฉัยตามคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดินในประเด็นที่มีปัญหาในเรื่องของข้อกฎหมายเรื่องการยื่นญัตติซ้ำตามที่มีการลงมติไปแล้วของสภา ทางผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นว่าการลงมติของสภาดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็เลื่อนคำวินิจฉัยตรงนี้ออกไป ซึ่งสุดท้ายทำให้ประธานสภาเลื่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป แล้วจะมาพิจารณาในเรื่องของวาระการประชุม ที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของมาตรา 272 เป็นเรื่องของการปิดสวิตซ์ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี จากการที่เราได้ยื่นต่อสภาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นการปิดสวิตช์ส.ว. ในการให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 เป็นหล่มทางการเมืองที่มีความสำคัญ
ประการที่ 1 คือ การที่เราไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีตามความต้องการของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ได้ จากการโหวตนายกรัฐมนตรี ตอนที่มีการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็จะเห็นว่าการโหวตครั้งนั้นจบลงที่ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่ให้ความเห็นชอบ กระบวนการแบบนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ถ้าเราไม่มีมาตรานี้ การโหวตนายกรัฐมนตรีจบไปแล้ว เรามีนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เราไม่ต้องรอให้ประเทศของเราถูกรักษาการโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นานขนาดนี้
แต่เนื่องจากมีมาตรานี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ชอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการคณะรัฐประหาร กระบวนการทำประชามติที่มีการจับกุมคนที่เห็นต่างทางการเมืองไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี กระบวนการเหล่านี้ในท้ายที่สุดก็กลายเป็นหล่มทางการเมืองวันนี้แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะให้ความเห็นชอบไปแล้วว่า เขาต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย ดังนั้นประการที่ 1 เราต้องรีบเอาหล่มทางการเมืองนี้ออก เพื่อที่เราจะได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
ประการที่ 2 หล่มทางการเมืองที่สะท้อนผ่านมาตรา 272 ยังสะท้อนถึงการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก คือเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่ไม่ได้เกิดจากการทำงานที่มีอุดมการณ์ความคิดความเชื่อที่ใกล้เคียงกันแต่ก่อให้เกิดกระบวนการการผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ตรงกัน แต่กลายเป็นเรื่องของการที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มบุคคลซึ่งก็คือวุฒิสมาชิก ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งตั้งเงื่อนไขกับพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 14 ล้านคน ว่าจะต้องไม่เอาพรรคการเมืองนี้ได้ หล่มทางการเมืองนี้เป็นหล่มทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องถอนหล่มนี้ออกเสีย
ประการที่ 3 เราต่างรู้กันดีว่ามาตรา 272 นี้เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนแล้ว ดังนั้นคำถามสำคัญก็คือว่าเราจะปล่อยให้มาตรา 272 เป็นอุปสรรคทางการเมืองต่อไปทำไม วันนี้ต่อให้พยายามใช้อำนาจนี้ในการสกัดขัดขวางเจตจำนงเสรีของประชาชนแต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจประชาชนได้สิ่งที่ทำได้คือแค่การยื้อเวลา ซึ่งการยื้อเวลาก็คือการยื้อเวลาของการพัฒนา ยื้อเวลาของการที่ประเทศจะเป็นประชาธิปไตย ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ตนคิดว่าเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงมาตรา 272 ไว้อีกต่อไป
นาย รังสิมันต์ โรม กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งหมด กระบวนการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปิดสวิตช์ส.ว. ในการเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจริงๆแล้วใช้เวลาไม่นาน ถ้าทุกฝ่ายทำงานกันอย่างรวดเร็ว วันพรุ่งนี้เราสามารถโหวตวาระที่ 1 ได้ กระบวนการจะจบภายใน 3 วาระ เราสามารถใช้เวลาให้จบภายใน 1 เดือนได้ ถ้านับรวมการเสนอทูลเกล้าฯประกาศในราชกิจจาเพื่อให้มันมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน ส.ว. จะไม่มีอำนาจในการลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ถ้ากระบวนการนี้จบลงตนเชื่อว่าความแปลกประหลาดทางการเมืองอาจจะมีรูให้หายใจ อาจจะเป็นรูระบายให้กับทุกฝ่าย ที่ต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองก็ดี ถ้าอย่างน้อยวันพรุ่งนี้มีการลงมติเห็นชอบให้เดินกันต่อได้ ก็อาจจะสร้างแง่ความคิดว่าต่อไปนี้เราอาจจะไม่ต้องพึ่งพาส.ว. ก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงข้างน้อยก็ได้เราสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างที่ควรจะเป็น และถ้าเราลงมติให้ความเห็นชอบต่อเรื่องนี้จะเป็นการเปิดโอกาสทางลงบันไดหนีไฟให้กับส.ว.ที่ต้องการปิดสวิตช์ตัวเอง
ดังนั้นในการพิจารณาวันพรุ่งนี้ช่วยกันปิดสวิตช์ 272 เพื่อเอาส.ว.ออกจากสมการในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้อำนาจของประชาชนสามารถเดินได้