จากกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมาเพื่อร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศและเป็นวิทยากรนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปีการศึกษา 2566 รวมถึงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กับนักศึกษาในฐานะศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
โดยมีใจความบางช่วงบางตอน ที่นายพิธา กล่าวว่า “ใจคออาจารย์ จะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. รวบรวมเสียงได้ 312 เสียง แต่รัฐสภาปัดตกไป ทำให้เข้าบ้านใหม่ที่ชื่อทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ มาพูดเรื่องนี้จริง ๆ เหรอครับอาจารย์ ถ้าเป็นภาษาผม และอาจารย์จะเรียกว่า บัดเหมาะเคราะห์ดี ที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แทนที่วันนี้จะอภิปรายอยู่ในสภา กลับได้มีโอกาสมาเจอกับเพื่อนใหม่ที่ธรรมศาสตร์แห่งนี้ แต่ถ้าเป็นภาษาของเพื่อนใหม่จะใช้คำว่าจังหวะนรก จังหวะโบ๊ะบ๊ะ ที่เลือกหัวข้อให้ผมมาพูดประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ตนอยากจะพูดเกี่ยวกับ 3 หลักสำคัญนี้ ที่กลายมาเป็นวิถีก้าวไกล ตั้งแต่เขายุบอดีตอนาคตใหม่ แทบจะไม่ต่างกันเลยในวิธีการทำงานทางการเมืองกับสิ่งที่ธรรมศาสตร์ได้สอนตนมา และไม่ใช่แค่คนคนเดียว แต่คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , ปิยบุตร แสงกนกกุล , เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร , ศิริกัญญา ตันสกุล , รังสิมันต์ โรม ที่รวมการตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้ 3 คำที่ธรรมศาสตร์ปลูกฝังออกมา เหมือนเป็นธาตุธาตุหนึ่ง เป็น DNA ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่ ตนได้เรียนรู้หลังจากออกจากธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาที่เรียนหนังสือ 4 ปี และไปอยู่ในรัฐสภาไทยเป็นเวลา 4 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสำคัญที่ทำให้มาพบกันในวันนี้