การบินไทยโกยกำไรไตรมาส 2 สูงสุดรอบ 20 ปี ออกจากแผนฟื้นฟูฯเร็วกว่าแผน

การบินไทย เปิดกำไรไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 20 ปี กว่า 8.5 พันล้านบาท คาดออกจากแผนฟื้นฟูได้ในไตรมาส 3 ปี 2567 เร็วกว่าแผนเดิม เตรียมจ้างงานเพิ่มเป็น 1.7 หมื่นคนภายในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายฝูงบิน

วันนี้ (11 ส.ค.66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2566 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 73% แต่ลดลง 9.9% จากไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารเดินทางต่ำที่สุดในช่วงปี โดยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางที่เป็นที่นิยม อาทิ ญี่ปุ่นและจีน มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.35 ล้านคน อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 79.2%

 

 

 

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 8,576 ล้านบาท ดีกว่าไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ขาดทุน 1,299 ล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปี 2566 นี้เป็นไตรมาส 2 ที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อน ขาดทุน 3,213 ล้านบาท ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของการบินไทย มีกำไรสุทธิ 2,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 173% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวที่น่าสนใจ

 

สำหรับ 6 เดือนแรกปี 2566 การบินไทยและบริษัทย่อย มีรายได้รวม 78,889 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 21,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 584% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,457 ล้านบาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 67 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 47 ลำ

นายชาย ระบุว่า ในส่วนของบริษัท การมีกำไรเพิ่มขึ้น 4 ไตรมาสติดต่อกัน แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวของบริษัททั้งด้านต้นทุน ดิจิทัลกระบวนการทำงาน และการปรับโครงสร้างหนี้ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนเป็นอย่างดี รวมถึงลูกค้ายังให้ความมั่นใจในการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้หาก Demand Supply มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ไม่เกินปี 2567

นายชาย ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้ดำเนินงานตามแผนงานที่วางไว้ และมากว่าผลการดำเนินงานในช่วงก่อนๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บริษัทจะนำมาพิจารณาร่วม จากแผนเดิมที่บริษัทจะออกจากแผนฟื้นฟูในช่วงปลายปี 2567 เเละจะกลับเข้าสู่การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 ทั้งนี้ หากผลการดำเนินงานยังอยู่ในระดับปัจจุบันคาดว่า การบินไทยจะออกจากแผนฟื้นฟูได้เร็วมากกว่าเดิมประมาณ 1 ไตรมาส มาเป็นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เพราะจะต้องมั่นใจว่าหากบริษัทได้ดำเนินการตามแผนแล้วโดยการเพิ่มทุนของบริษัท ก็มีส่วนต่อความมั่นใจของนักลงทุนและผู้ถือหุ้นเดิมและประสบความสำเร็จต่อการเพิ่มทุนของบริษัท โดยสถานะทางเงินของบริษัทจะต้องมั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับบริษัทจึงจะยื่นเรื่องเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทได้ออกจากแผนฟื้นฟู บริษัทจะมีระยะเวลาที่จะยื่นไฟลิ่งกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ โดยถ้าผลการดำนินงานเป็นไปในแนวโน้มแบบนี้ คาดว่าจะยื่นกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เกินสิ้นปี 67

 

 

ณ สิ้นงวด มิ.ย.66 บริษัทมีกระแสเงินสด 51,153 ล้านบาท โดยมีแผนจะนำส่วนหนี้เริ่มทยอยใช้หนี้ตามแผน 1.3 แสนล้านบาท เริ่มจ่ายหนี้ ปี 67 โดยใน 3 ปีแรกจะจ่ายปีละ 1 หมื่นล้านบาท จนถึงปี 74 พร้อมเดินหน้าดำเนินการตามแผนฟื้นฟู จากการแปลงหนี้เป็นทุนที่มีการเพิ่มทุนรอบแรก และการเพิ่มทุนรอบสองที่คาดว่าจะระดมเงินไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

 

 

 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีมูลค่าลงทุน 7-8 พันล้านบาท โดยเตรียม Business Model คาดใช้เวลา 3-4 เดือน และอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรหลายรายในการร่วมลงทุน

 

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ มองว่า ยังไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการจองเที่ยวบิน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความคุ้นเคยกับสถานการณ์ และส่วนใหญ่มาผ่านกรุงเทพฯ และต่อไปยังจุดหมายปลายทางอย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ส่วนกรณีที่กรมสรรพสามิตกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินไอพ่น อัตรา 4.726 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา นั้นส่งผลต่อเส้นทางบินในประเทศเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งได้มีหารือสมาคมสายการบิน เพื่อปรับกลยุทธ์ด้านราคาให้สอดคล้องกัน

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแข่งขันมีความเข้มข้นต่อเนื่อง จึงต้องขยายเครือข่ายพันธมิตรด้านการบิน เพื่อหารายได้เพิ่ม ขณะที่การปรับโครงสร้างการบินไทยและไทยสมายล์ ทำให้การขายต่างประเทศเชื่อมต่อมายังไทย อาเซียน อินโดนีเซีย และจีน ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมยังเป็นไปตามแผน พร้อมคาดว่าปีนี้จะมีผู้โดยสารรวม 9 ล้านคน เป็นไปตามเป้าหมาย จากครึ่งปีแรกที่มีจำนวน 6.87 ล้านคน

 

นายชาย ระบุว่า ในส่วนของการจ้างพนักงานของการบินไทย ขณะนี้ยังไม่ใกล้เคียงช่วงก่อนที่บริษัทจะเข้าสู่เเผนฟื้นฟู รวมถึงไม่มีแนวความคิดที่จะรับพนักงานให้ใกล้เคียงกับจำนวนเดิม เพื่อไม่ให้สถานการณ์ของบริษัทกลับไปในรูปแบบเดิม โดยขณะนี้บริษัทมีพนักงานอยู่ที่ 1.5 หมื่นคน และเพิ่มเป็น 1.7 หมื่นคนภายในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายฝูงบิน ซึ่งขณะนี้บริษัทได้มีการจ้างพนักงานในส่วนของลูกเรือ และ outsource ทั้งช่าง พนักงานภาคพื้นดิน รวมถึงผู้ให้บริการภาคพื้นและ พนักงานแบ็คออฟฟิศในตำแหน่งที่ขาดอยู่ ซึ่งการเปิดรับพนักงานของบริษัท ค่อนข้างได้รับความสนใจจากภาคแรงงานจำนวนมาก สะท้อนความมั่นใจในตัวบริษัท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พิพัฒน์" ตรวจเยี่ยมเอกชน ต้นแบบอุตสาหกรรม ผลิตด้วยเทคโนฯ AI พร้อมเร่งนโยบาย up skill ฝีมือแรงงานไทย
ผู้นำปานามาลั่นคลองปานามาไม่ใช่ของขวัญจากสหรัฐ
จีนไม่เห็นด้วยหลังไทยยืนยันไม่มีแผนส่งกลับอุยกูร์ในขณะนี้
"ดีเอสไอ" อนุมัติให้สืบสวนคดี "แตงโม" ปมมีการบิดเบือน บุคคลอื่น-จนท.รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
"พิพัฒน์" นำถก "คบต." ลงมตินายจ้างต้องยื่นบัญชีชื่อต้องการแรงงานต่างด้าว ให้เสร็จใน 13 ก.พ.68
ส่องรายได้ "ดิว อริสรา" หลัง "ไผ่ ลิกค์" เฉลยชื่อดาราดัง ปมยืมเงินปล่อยกู้ โซเชียลจับตา รอเจ้าตัวชี้แจง
ศาลให้ประกันตัว "หนุ่มลูกครึ่งอินเดีย" ขับรถชนไรเดอร์เสียชีวิต ตีวงเงิน 6 แสนบาท คุมเข้มใส่กำไล EM ภรรยาผู้ตาย ลั่นไม่ให้อภัย
ทบ.ขานรับนโยบายปราบยาเสพติด เพิ่มทหาร 6 กองกำลัง วัดเคพีไอ 10 กพ.-10 มิ.ย.
ซีพีเอฟ ซีพี-เมจิ ร่วมหนุนสระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ "รวมพลังสร้างเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย”
สละเรือแล้ว! "ผบ.อิสราเอล" ยื่น "ลาออก" เซ่นเหตุ 7 ต.ค. ไล่แทงกันในเทลอาวีฟเจ็บ 5

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น