จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 “ไอซ์ รักชนก” สส.ก้าวไกล เขตบางบอน กทม. ได้มีโอกาสขึ้นอภิปรายในสมัยแรกเกี่ยวกับ รายงานประจำปีของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยงานนี้ ไอซ์ รักชนก ได้พูดถึงสื่อช่องดัง ที่มีผู้สนับสนุนงบประมาณกว่า 4.8 ล้านบาท โดยเจ้าตัวนั้นยังได้ออกมาโพสต์ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเหตุผลที่ว่า ในสภาฯ นั้นเวลาจำกัด จึงขออภิปรายนอกสภา ซึ่งมีข้อมูล ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การครอบงำแนวทางกองทุนจาก กกหบ.
เพื่อให้ประชาชนเข้าใจบริบท ต้องอธิบายที่มาของกรรมการบริหารกองทุนนี้ก่อน พรบ กองทุนสื่อปลอกภัยและสร้างสรรค์ กำหนดไว้ว่า
1) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ
3) กรรมการโดยตําแหน่ง ประกอบด้วยปลัดจาก 7 กระทรวง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเลขาธิการกสทช.
4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจํานวนเก้าคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
เอาแค่ที่มาของกรรมการบริหาร ทั้ง 4 ข้อ ก็ตีความได้ว่า ล้วนมาจากคณะรัฐมนตรีทั้งสิ้น จึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าแนวทางของกองทุนนี้ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาสื่อหรือควบคุมสื่อกันแน่ เพราะโครงการที่เสนอมามีโอกาสจะถูกเลือกปฏิบัติ โดยเลือกสนับสนุนเฉพาะโครงการที่เอาไว้อวยรัฐบาลกองทุนพัฒนาสื่อจะสร้างสรรค์ได้อย่างไร ถ้าคณะกรรมการบริหาร เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้คุณให้โทษ หาประโยชน์จากกองทุนให้ตัวเองได้ ซึ่งผู้ชี้แจงยอมรับว่ามีปัญหาจริง แต่การแก้ปัญหาจุดนี้ ต้องไปแก้ไขที่ พรบ. โดยการเสนอเป็นกฎหมาย เพื่อปลดล็อคกองทุนออกจากการควบคุมของคณะรัฐมนตรี
ประเด็นที่ 2 ใช้งบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ไอซ์ อยากทราบการวัดผลประสิทธิภาพโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว จึงตามดูโครงการที่ได้งบเยอะ ๆ หรือชื่อน่าสนใจ พบว่า ยกตัวอย่าง 2 โครงการ ทีได้งบเกิน 10 ล้าน
1. ภาพยนตร์เรื่อง พระร่วง พระราชาผู้ทรงธรรม ได้งบประมาณ 30,000,000 บาท
2. ละครส่งเสริมจิตอาสาและหน้าที่พลเมือง ชุด “ใจอุทิศจิตอาสา” ตอน เธอและฉันใต้ฟ้าผืนเดียวกัน We own the sky ได้งบประมาณ 14,400,000 บาท
พยายามค้นหาความคืบหน้าในอินเตอร์เน็ตค้นหาในเว็บไซต์ แต่ไม่เจอ ผู้ชี้แจงแจ้งว่าโครงการแรกใกล้คลอด ส่วนโครงการที่สองอนุมัติแล้วแต่ผู้เสนอขอถอนตัว ต่อมา มีหลายโครงการที่ได้งบสูง แต่ผลลัพธ์ไม่น่าพอใจ และยังอนุมัติต่อเนื่อง เช่น
1.เดอะวินเนอร์เกมพิชิตฝัน ได้เงินสนับสนุน 3,600,000 บาท มีผู้ชมออนไลน์รวมกันทั้ง 24 ตอน จำนวน 300,000 วิว
2.โครงการนักสืบสายรุ้ง ss2 ได้เงินสนับสนุน 4,000,000 บาท มีผู้ชมรวมกัน5ตอน จำนวน 200,000 วิว
3.โครงการผลิตรายการครูดี สร้างคนดี งบไม่ปรากฏ ไม่ปรากฏงบสนับสนุนมี 12 ตอน มีคนดู 130,000 คน อีกหลายโครงการที่ไปเปิดดูมา เงินสนับสนุนหลักล้าน แต่มีผู้ชมต่อตอนแค่หลักพันเท่านั้น
ทำโครงการแล้วไม่ติดตลาดบ้างไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีประสิทธิภาพ แล้วยังคงแนวทางเดิม ไม่แก้ไข ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อผลิตสื่อโดยไม่หวังผล ว่าต้องมีคนเสพ สนับสนุนโดย ไม่มีการประเมิน ประสิทธิภาพ เข้าไม่ถึงแม้กลุ่มที่ต้องการเจาะจงมันคงเป็นการตำนำพริกละลายแม่น้ำ ผลาญงบมากไป ผู้ชี้แจงแจ้งว่า มีตัวชี้วัดแต่ไม่ได้ใส่มา จะนำไปปรับปรุง
รายการ หนึ่งของสื่อช่องดัง ได้รับเงินอุดหนุน 4,800,000 บาท มากเป็นอันดับต้นๆของรายงานฉบับนี้ ไม่แน่ใจว่ากรรมหารกองทุนทราบหรือไม่ว่าช่อง T..N… มีแนวทางในการนำเสนอข่าวอย่างไร หรือเพราะกองทุนชื่นชอบสื่อแนวทางนี้ จึงสนับสนุนงบมากขนาดนี้ไอซ์ต้องขอตั้งคำถามแทนประชาชนจำนวนมากว่าท่านมีเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการที่จะสนับสนุนอย่างไรคะ
ประเด็นที่ 3 งบต่อต้านข่าวปลอมหลักสิบล้าน แต่ .. กองทุนมีการจัดทำโครงการ ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านข่าวปลอม เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เห็นด้วยว่าควรที่จะรณรงค์ในเรื่องนี้ งบประมาณที่ใช้ ก็หลายสิบล้าน แต่ทำไมเมื่อดูประสิทธิภาพกลับรู้สึกว่า ไม่ดีเท่าที่ควร ในกลุ่ม LINE ข้าราชการจำนวนมากยังส่งต่อข่าวปลอมกันทุกวัน เช่น พรรคก้าวไกลจะตัดบำนาญข้าราชการ ช่วงหาเสียงต้องตอบคำถามนี้ทุกวันในกลุ่ม LINE ส.ว. ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ควรที่จะมีวิจารณญาณมากกว่อาชีพอื่น ยังส่งต่อข่าวปลอมกันไม่หยุดว่าพรรคก้าวไกล จะสนับสนุนให้อเมริกามาตั้งฐานทัพในไทย น่าแปลกที่ถึงแม้ว่าจะมีหลาย 10 โครงการ ที่ส่งเสริมเพื่อต่อต้านข่าวปลอม ใช้งบหลายสิบล้านแต่ก็ยังมีการส่งต่อข่าวปลอมไม่หยุดราวกันว่าไม่เคยมีการส่งเสริมเรื่องนี้เลย