“เศรษฐา” ตายเพราะปากจบเห่นายกฯ?

ปลาหมอตายเพราะปาก เจาะหนทาง "เศรษฐา ทวีสิน" นั่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ส่อจบเห่ เหตุปากไวไม่ยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลคุมกระทรวงเดิม เผยโดนต้านยับ จี้เปลี่ยนตัวเป็นอุ๊งอิ๊ง ขณะที่ สว.ข้องใจปมเดินเกมแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแอบซูเอี๋ยก้าวไกลหรือไม่

กลับมาสะดุดอีกครั้งสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล และการโหวตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้ว่ากันว่าหนทางราบรื่นหลังประกาศสลายขั้วการเมืองตั้ง “รัฐบาลพิเศษ” ซึ่งการสะดุดหกล้มดังกล่าวเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยที่ออกมาระบุว่า จะไม่ให้พรรคการเมืองเดิมบริหารกระทรวงเดิมโดยมองว่าเป็นหลักการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหลังจากคำพูดนี้ออกไปสู่สาธารณะ ทำให้เกิดแรงต้านจากพรรคการเมืองที่กำลังเข้าร่วมรัฐบาลออกมากอย่างรุนแรงถึงขนาดจี้ให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนตัวนายเศรษฐา

อาการปากไวดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาอย่างรุนแรง เพราะในแง่ของยุทธศาสตร์การเมืองนายเศรษฐาไม่ควรพูดอะไรที่เกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาลว่า ไม่ให้นู้นไม่เอานี่ เพราะคำพูดดังกล่าวอาจส่งผลร้ายหากอำนาจการต่อรองอยู่ในมือของคนอื่น โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และพรรคสองลุงที่เพื่อไทยจะขาดไม่ได้หากคิดจะจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ดังนั้นนายเศรษฐาในฐานะบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำของประเทศควรวางตัวให้เหมาะสม และไม่ควรใช้วาจาที่ใจเร็วลุแก่อำนาจที่อาจส่งผลทำให้เกิดรอยร้าวในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล

 

 

จากคำพูดดังกล่าวส่งผลให้พรรคการเมืองที่จะเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทยเกิดความลังเลที่จะโหวตนายกรัฐมนตรีให้นายเศรษฐาถึงขนาดมีรายงานข่าวออกมาว่า กลุ่มพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลยื่นข้อเสนอผ่านคณะผู้แทนเจรจาจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องแบ่งกระทรวงให้เป็นที่ยุติชัดเจนก่อนการโหวตนายกฯ และต้องไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม แต่ให้พิจารณากระทรวงเดิมเป็นอันดับแรกเพื่อทำงานได้ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งรัดนโยบายแก้ปัญหาปากท้องประชาชนเป็นอันดับแรก และหากพรรคเพื่อไทย รวมถึงนายเศรษฐาไม่รับเงื่อนไข กลุ่มพรรคร่วมอยากให้เปลี่ยนตัวเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นนายกฯแทน

ขวากหนามที่นายเศรษฐาพลั้งปากพูดแสดงให้เห็นว่า การทำงานระหว่างพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้การออกสัมภาษณ์หลายครั้งของพรรคเพื่อไทย และนายเศรษฐาไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน อาทิ การพูดจะแก้ไขมาตรา 112 ของนายเศรษฐาในลักษณะสวนทางกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ไม่เคยมีธงในการแก้ไขมาตรา 112 มาตั้งแต่หาเสียง

ความไม่เป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างนายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยยังทำให้เห็นอีกมุมมองนึงว่า การลุกฮือของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลที่ยื่นเงื่อนไขให้เปลี่ยนตัวนายเศรษฐาเป็น น.ส.แพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊งแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา นายเศรษฐาไม่ใช่คนสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากขาดความเข้าใจเรื่องการจัดสรรโควต้าของพรรคการเมืองที่ต้องให้แต่ละฝ่ายสมประโยชน์อย่างลงตัว โดยเฉพาะเงื่อนไขของพรรคร่วมที่ส่งตรงถึงเพื่อไทยว่า ต้องไม่มีเงื่อนไขห้ามนั่งในกระทรวงเดิม

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ในทางการเมืองเป็นที่รู้ดีกันว่า การเข้ามาคุมกระทรวงเดิมของพรรคการเมืองเดิมถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้สานงานที่เคยบริหารมาอย่างต่อเนื่องแล้ว แต่ในอีกทางหนึ่งยังเป็นการตอบแทนกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ๆ โดยการได้คุมกระทรวงเป้าหมายจะทำให้กลุ่มทุนร่วมกำหนดนโยบายและสานผลประโยชน์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ โดยจะเห็นได้จากกระแสข่าวที่ออกมาว่า พรรครวมไทยสร้างชาติกำลังเจรจาขอโควต้ารัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เนื่องจากรวมไทยสร้างชาติมีนายทุนใหญ่กลุ่มพลังงานสนับสนุน แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการคุมกระทรวงพลังงานเช่นกัน

เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยที่ต้องการคุมกระทรวงคมนาคมเหมือนเดิม เพราะเป็นกระทรวงเกรดเอที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาล และถือเป็นกระทรวงที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำหากพรรคการเมืองใดได้เข้ามาดูแล ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น เพื่อไทยวางเป้าที่จะเข้ามาดูแลเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันภูมิใจไทยยืนกรานจะเข้ามาดูแลเหมือนเดิม จึงทำให้การจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีในการคุมกระทรวงต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความขัดแย้งอย่างหนัก และสิ่งเหล่านี้อาจทำให้นายเศรษฐา ตกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้ทันที หากการเจราจาดัวกล่าวไม่เป็นที่พอใจกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลเดิมโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และพรรคสองลุง

นอกจากอาการปลาหมอตายเพราะปากแล้วนั้น นายเศรษฐา ยังประสบปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เดินหน้าแฉแหลกในทุก ๆ เรื่องทั้งการซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสิน เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ราคากว่า 1,570 ล้านบาทของบริษัทแสนสิริโดยใช้วิธีเลี่ยงภาษีเงินได้บุลคลธรรมดาทำให้รัฐเสียหายกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเรื่องดังกล่าวแม้จะป็นวิธีการที่ทำได้ในทางกฎหมาย แต่ก็ทำให้นายเศรษฐาถูกสังคมวิจารณ์เรื่องจริยธรรมอย่างหนักเช่นกัน

 

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องคุณสมบัติที่ สว.ส่วนใหญ่กำลังตั้งคำถามทั้งจุดยืนเรื่องแก้ไขมาตรา 112 ที่นายเศรษฐาเคยพูดไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันยังมีเรื่องสำคัญที่เป็นธงของเพื่อไทย และนายเศรษฐา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ สว.ส่วนใหญ่ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นการสร้างวิกฤติความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในชาติอีกครั้ง อีกทั้ง สว. ยังมองว่า ทำไมเพื่อไทย จึงให้ความสำคัญ ต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นวาระเร่งด่วน มากกว่าการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ หรือเพื่อไทยมองว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นปัญหา อุปสรรค ของนายทุน เจ้าของเพื่อไทย ทำให้ไม่สามารถกลับไทยได้แบบเท่ๆ โดยไม่ต้องติดคุก ดังนั้น สว.จึงไม่อาจโหวตให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี หากยังไม่ได้รับการชี้แจงให้กระจ่าง

 

ขณะเดียวกัน สว. ส่วนใหญ่ยังมองว่า การประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทยในครั้งนี้อาจมีการรู้เห็นกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่ สอดคล้องกันอย่างลงตัว เมื่อเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่ม3 นิ้วรวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ประกอบด้วยกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ,เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ หรือ CALL ,คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. จัดเวทีแถลงการณ์เปิดแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” โดยเชิญชวนประชาชนเข้าชื่อให้ครบ 5 หมื่นชื่อ เพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ได้ทุกหมวด และทุกมาตราไปจนถึงการรวมศูนย์อำนาจรัฐธรรมนูญต้องพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นทางออกให้สังคมไทยได้

 

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาการออกมาประกาศจุดยืนของนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภาที่ออกมายืนกรานว่า ไม่ตัดสินใจว่าจะโหวตนายเศรษฐาหรือไม่ เพราะยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่จะมีนายกรัฐมนตรีชื่อนายเศรษฐา เนื่องจากไม่ได้มองแค่ตัวบุคคล แต่มองไปถึงทั้งพรรค ดังนั้นหากนโยบายที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอ คือการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นแรกสำคัญกว่าเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจของประชาชน และถ้าเป็นอย่างนั้นคงสนับสนุนนายเศรษฐาลำบาก

 

 

พายุการเมืองที่เกิดจากแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล และ สว. รวมถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ที่กำลังพุ่งเข้าสู่นายเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในขณะนี้อาจส่งผลลุกลามนำไปสู่จุดจบของนายเศรษฐาในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็เป็นไปได้,,,?

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา "ชวาล" ส.ส.พรรคประชาชน ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ โทษคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
จีนเตือนสหรัฐกำลังเล่นกับไฟหลังส่งอาวุธให้ไต้หวัน
อิลอน มัสก์วิจารณ์แรงผู้นำเยอรมันเหตุโจมตีตลาดคริสต์มาส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น