ก่อนที่ “บิ๊กเด่น” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่จะเกษียณอายุราชการปลายเดือน ก.ย.นี้ หลายคนใจจดใจจ่อรอคอย ที่จะเห็นโฉมหน้า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ “คนที่ 14” และครั้งนี้ เป็นปีแรก ที่มีการเปลี่ยน “กฎเหล็ก” จากเดิม นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อ รอง ผบ.ตร.นำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายตํารวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เห็นชอบ แต่กฎเหล็กใหม่ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ระบุให้ “นายกรัฐมนตรี” คัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.โดยคำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบ โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม จากนั้นนำรายชื่อเสนอต่อ คณะกรรมการข้าราชการตํารวจ (ก.ตร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
ส่วนขั้นตอนการนำเสนอชื่อต่อ ก.ตร. จะมีเพียง ก.ตร.มาจากแต่งตั้งที่เป็นอดีตตำรวจ 3 ราย ประกอบด้วย พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก , พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ , พล.ต.อ.วินัย ทองสอง และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 ราย และสำหรับ รองผบ.ตร. 4 แคนดิเดต ที่ถูกคาดการณ์ 1 ในนี้จะเป็นผู้รับไม้ต่อ นามเรียกขาน “พิทักษ์ 1”
1.พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567
“รองฯรอย” นักเรียนเตรียมทหารรุ่น24 นายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567 ในรอบปี มีผลงานโดดเด่นจากการรับผิดชอบหน้าที่ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภารกิจหลักดูแลความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง ปี 2562 และปี 2565 และการได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยภารกิจ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 Thailand. พร้อมกันนี้ ยังดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ(ศปอส.ตร.) หรือ PCT นำทีมปราบปรามภัยทางออนไลน์ที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน รวมทั้งรับผิดชอบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.) , ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) และศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) (ศบตอ.ตร.)
ในขณะเดียวกัน “รองฯรอย” ยังทำงานระดับ ตร. ทุกหน้างาน ทั้งงานปราบปราม,งานสืบสวน,และงานความมั่นคง จนแวดวงสีกากีต่างยอมรับ อีกทั้งมีวิสัยทัศน์ทันสมัย ใส่ใจในเรื่องการพัฒนาระบบ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน และได้รับมอบหมายให้เป็น รอง ผอ.ศูนย์ตรวจสอบการกระทำผิดต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ ได้รับมอบวางแนวทางการปฏิบัติงานของงานป้องกันปราบปรามในการระงับเหตุจนลดการสูญเสียกำลังพล ตลอดจนเคยดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ปราบปรามค้ามนุษย์ ห้วงปี 2564-2565 วางแนวทางการปฏิบัติจนทำให้ปรับระดับเทียร์(Tier )ดีขึ้น อีกทั้งวางระบบการประสานงานยุติธรรม ทำให้คดีสั่งไม่ฟ้องเป็นศูนย์ (0) ด้านงานปราบปรามยาเสพติดเป็น ผอ.ศูนย์ยาเสพติด ตร. ปี 2564-2565 จับกุมและเน้นการยึดทรัพย์จนบรรลุเป้าหมายของรัฐบาล อีกทั้ง “รองฯรอย” ยังเป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิด“เครื่องแบบสนาม”สำหรับข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่งานป้องกันปราบปรามที่ใช้ในปัจจุบัน
2.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 เกษียณอายุราชการปี 2574
“บิ๊กโจ๊ก” นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 31 นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 47 พ่วงปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิตสาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม จากมหาวิทยาลัยมหิดล , ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยามหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงานโดดเด่นเฉพาะรอบปีที่ผ่านมา คือการนำทีมปิดคดีสำคัญหลายคดี อาทิ คดีแอม ไซยาไนด์ , คดีคนไทยรับจ้างอุ้มบุญ , คดีมูลนิธิคุ้มครองเด็ก “บ้านครูยุ่น” ทำร้ายเด็ก-บังคับไปทำงานรีสอร์ท , ทลายเครือข่ายขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน , คดีทุนจีน รวมถึงการปราบปรามปัญหาบุกรุกที่ดินเกาะหลีเป๊ะ นอกจากนี้ “บิ๊กโจ๊ก” ถือเป็นหนึ่งนายตำรวจที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสนองนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะการปราบปรามการค้ามนุษย์ จากการสวมหมวกผอ.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.) โชว์ผลงาน ขยับสถานการณ์ค้ามนุษย์ประเทศไทยขึ้นสู่เทียร์ 2 อีกทั้ง “บิ๊กโจ๊ก” ยังเป็นผู้ผลักดันการแก้ประวัติอาชญากร ปรับปรุงระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี พิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566