วันที่ 15 ส.ค. 66 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” ระบุข้อความว่า พรุ่งนี้ วันพุธที่ 16 สิงหาคม เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงว่าจะรับวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนที่ส่งมาจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การที่รัฐสภามีมติไม่ให้เสนอชื่อคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบว่าสมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ตามข้อบังคับการประขุมรัฐสภาข้อ 41 ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผมยังคงยืนยันความเห็นเดิมว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามเหตุผลที่เคยให้ไว้แล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นก็เท่ากับเป็นการปิดประตูที่คุณพิธาจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อย่างน้อยก็ในสมัยการประชุมสภาสมัยแรกนี้ และต่อจากนี้คุณพิธายังคงต้องเผชิญกับวิบากกรรมต่อไปอีก 2 เรื่อง คือคดีเรื่องการถือหุ้น itv ซึ่งอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และอีกคดีคือ การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา กรณีหลังเรื่องยังอยู่ในชั้น กกต.ซึ่งคณะไต่สวนของกกต.มีความเห็นให้ยกคำร้อง แต่ยังมีอีก 2 ด่านที่จะต้องพิจารณา คืออนุกรรมการวินิจฉัย และคณะกรรมการกกต.ชุดใหญ่ คุณพิธาจึงยังดีใจไม่ได้ในขณะนี้
หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับเรื่อง การประชุมรัฐสภาก็คงจะมีขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ตามที่กำหนดไว้ ซึ่งพรรคที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก็คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งขณะนี้ได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์การเมืองหลายคนว่า “พรรคเพื่อไทยการละคร” เพราะสื่อมวลชนและนักวิเคราะห์การเมืองล้วนมองว่า พรรคเพื่อไทยเล่นละครตั้งแต่เริ่มต้นจับมือกับพรรคก้าวไกล และพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 6 พรรคแล้ว เนื่องจากไม่สามารถชนะการเลือกตั้งแบบ landslide อย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้ ทั้งยังพ่ายแพ้ต่อพรรคก้าวไกล กลายเป็นพรรคอันดับ 2 เป็นครั้งแรกอีกด้วย จึงจำเป็นและจำใจต้องยอมให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเล่นบทสนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องเดียว คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ละครฉากที่เป็นที่ฮือฮาที่สุดก็คือ ฉากที่ตัวแทนพรรคเพื่อไทยพากันเดินจากที่ทำการพรรคข้ามถนนไปขอขมาต่อพรรคก้าวไกลหลังจากที่ประกาศแยกตัวออกจาก 8 พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขอให้พรรคก้าวไกลลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลก็ตาม
แรกทีเดียวก็รู้สึกว่าพรรคเพื่อไทยทำเช่นนี้ ไม่ค่อยจะเหมาะสม ทำไปเพื่ออะไรทั้งที่รู้ว่า ยากที่พรรคก้าวไกลจะ ยอมลงคะแนนให้หากไม่ได้ร่วมรัฐบาล แต่เมื่อคุณไผ่ ลิกค์ แห่งพรรคพลังประชารัฐประกาศว่า จะให้การสนับสนุนด้วยการลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย โดยส.ส.ทั้ง 40 คนของพรรคพลังประชารัฐจะลงคะแนนให้ทั้งหมดอย่างไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องร่วมรัฐบาล เลยชักสงสัยว่า การบากหน้าไปขอขมาพรรคก้าวไกลอาจเป็นเพียงการแสดงออกเพื่อส่งสัญญานอะไรบางอย่างให้พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆที่ร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งก็อาจเป็นการแสดงละครอีกฉากหนึ่งเท่านั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี จนบัดนี้ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการว่า พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติจะเข้าร่วมรัฐบาลด้วยหรือไม่ แต่ก็เป็นที่คาดกันว่าถึงที่สุดคงต้องเข้าร่วม แต่คำถามยังคงมีว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย หากเป็นคุณเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะจากสว.หรือไม่ หากจะให้ฟันธงในขณะนี้ จะขอฟันธงเหมือนคุณจตุพร พรหมพันธ์ุว่า คุณเศรษฐาจะไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐสภา เพราะไม่น่าจะผ่านด่านสว.ได้