สืบเนื่องจากที่ผ่านมา แกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย ได้เปิดนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยกับ TOPNEWS ถึงมุมมองต่อหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของเพื่อไทยอย่างเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ว่า เงินดิจิทัลคนละ 1 หมื่นบาท ระยะเวลา 6 เดือน ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร สำหรับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อเกิดขึ้นนั้น ตนเองไม่ได้กังวลในเรื่องนี้เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลได้มีการใช้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ถึงสองครั้ง ซึ่งสูงกว่าวงเงินนี้
แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ลักษณะของเงินดิจิทัล 10,000 บาท เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวนประชากร ประมาณ 50 ล้านคน จะใช้วงเงินอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่เยอะ เมื่อนำมาเทียบกับงบประมาณที่มีอยู่ 3 ล้านล้านบาทต่อปี โดยแบ่งเป็นงบลงทุน 700,000 ล้านบาท หรือ 20% / งบประจำ 2.3 ล้านล้านบาท หรือ 77% โดยวงเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบลงทุนที่ 700,000 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนถึง 70-80% ของวงเงินงบลงทุน
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยได้ระบุที่มาของนโยบายเงินดิจิทัล ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท ว่าจะมาจากการบริหารระบบงบประมาณและระบบภาษี ได้แก่
1.ประมาณการรายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 260,000 ล้านบาท
2.ภาษีที่ได้มาจากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 100,000 ล้านบาท
3.การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท
4.การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท
รศ.ดร.สมชาย มองว่า รัฐบาลจะนำเงินงบประมาณจำนวนมากดังกล่าวมาได้เช่นไร ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลอาจจะดำเนินการได้ คือ การก่อหนี้ ซึ่งเมื่อมีการก่อหนี้ขึ้นมาก็จะเห็นถึงข้อจำกัด คือ งบประมาณของไทยที่มีข้อจำกัด ในเรื่องของงบลงทุนที่อยู่ระดับต่ำมาก ทำให้วงเงินนโบายเงินดิจิทัล จะไปกินสัดส่วนของงบประมาณ และหากรัฐบาลจะมีการกู้ยืม จะพบว่า ระดับหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่สูงแล้วที่ประมาณ 62% (ณ มิ.ย.66 อยู่ที่ 61.15% ของจีดีพี ) แม้จะยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า สิ่งที่จะต้องมองของนโยบายนี้ คือการไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของนโยบายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงนโยบายของพรรคร่วม ทั้งการพักหนี้ การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณแทบทั้งสิ้น ดังนั้น หากดูนโยบายอื่นๆ ร่วมด้วยก็จะเกิดความหนักใจขึ้นมาว่า หากรัฐบาลบริหารงานจัดการไม่ดีจะเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพได้ โดยรัฐบาลจะต้องตอบคำถามเรื่องที่มาของงบประมาณ ให้ชัดเจน และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลัง