วันที่ 17 ส.ค.66 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ช่วง 7 เดือนปี 2566 (ม.ค. – ก.ค.66) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 122 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 255 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,594 คน
สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 84 ราย (ร้อยละ 22) เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท
2. สิงคโปร์ 61 ราย (ร้อยละ 16) เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท
3. จีน 28 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท
4. สหรัฐอเมริกา 67 ราย (ร้อยละ 18) เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท
5. เยอรมนี 16 ราย (ร้อยละ 4) เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท
รวมถึง มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน เป็นต้น
โดยเมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 17 (เดือน ม.ค. – ก.ค. 66 อนุญาต 377 ราย / เดือน ม.ค. – ก.ค. 65 อนุญาต 323 ราย) มูลค่าการลงทุนลดลง 14,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 (เดือน ม.ค. – ก.ค. 66 ลงทุน 58,950 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ก.ค. 65 ลงทุน 73,624 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 286 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 (เดือน ม.ค.- ก.ค. 66 จ้างงาน 3,594 คน / เดือน ม.ค. – ก.ค. 65 จ้างงาน 3,308 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนม.ค.- ก.ค.66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ
– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
– บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง
– บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า
– บริการก่อสร้าง รวมทั้ง ติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก
– บริการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบำรุงรักษา เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์และสำหรับที่ใช้ในสถานพยาบาล
– บริการซอฟต์แวร์ ประเภท ENTERPRISE SOFTWARE และ DIGITAL CONTENT
– บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ