สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียรายงานเมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม) ว่าตลาดค้าข้าวในไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก เริ่มเกิดความปั่นป่วน หลังอินเดียสั่งระงับการส่งออกข้าวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกลดลง
นิกเกอิ รายงานว่าราคาข้าวสารซื้อขายในประเทศของไทยพุ่งขึ้นเกือบ 20 % จาก 1 หมื่น 7 พันบาทต่อตัน เป็น 2 หมื่น 1 พันบาทต่อตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ก็ขยับขึ้นเป็น 610 ดอลล่าร์สหรัฐต่อตัน สะท้อนถึงราคาข้าวในตลาดโลกที่ทำสถิติพุ่งสูงสุดในรอบ 11 ปี นิกเกอิกล่าวว่าแม้ว่ารัฐบาลไทยไม่มีมาตรการจำกัดการส่งออก แต่ผู้ส่งออกข้าวมีท่าทีลังเลไม่อยากส่งออก เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปริมาณข้าวในสต็อก
โดยปกติ ไทยสามารถผลิตข้าวสารได้ราว 20 ล้านตันต่อปี โดยครึ่งหนึ่งบริโภคในประเทศ อีกครึ่งหนึ่งส่งออก อย่างไรก็ตาม นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิว่าสถานการณ์ข้าวไทยปีนี้ไม่มากเหมือนทุกๆปี ที่ผ่านมา โดยปกติไทยไม่เคยต้องวิตกเรื่องปริมาณข้าวในสต็อคมาก่อน แต่ปีนี้มีทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำน้อยจากเอลนีโญ่ ทำให้ปริมาณข้าวที่ผลิตน้อยลง โดยมีการตั้งเป้าส่งออกปี 2566 ที่ 8.5 ล้านตันเท่านั้น และความต้องการของตลาดโลกที่มากขึ้นจากการที่อินเดียระงับส่งออก ทำให้ราคาผันผวนหนัก จนสมาคมผู้ส่งออกข้าวไม่สามารถกำหนดราคาส่งออกได้ รวมทั้งปริมาณข้าวที่ส่งออกอย่างชัดเจน
ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการที่อินเดียระงับส่งออกข้าว, ไทยผลิตข้าวได้น้อยลง ทำให้หลายประเทศเริ่มเร่งหาซื้อข้าว ปัจจัยเหล่านี้คาดว่าจะทำให้เกิดการกักตุนข้าวเพื่อขายทำกำไร ซึ่งจะยิ่งดันราคาในตลาดโลกให้พุ่งสูงและทำให้เกิดการขาดแคลนข้าวมากขึ้น นอกจากนี้ก็อาจทำให้เกิดการเลียนแบบอินเดีย ด้วยการออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย, เวียดนามและปากีสถานซึ่ง 3 ประเทศรวมกันคิดเป็น 30 % ของปริมาณข้าวส่งออกทั่วโลก