วันที่ 18 ส.ค. 66 ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานวิปของพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย พรรคการเมืองขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายเสียงข้างน้อย และวุฒิสภา โดยนายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงเหตุผลในการขอให้มีการทบทวนมติของรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 กรณีเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำ ถือเป็นญัตติหรือไม่ ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 22 ส.ค.นี้ ก่อนวาระการเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า พรรคก้าวไกลจำเป็นจะต้องอภิปรายในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากจะต้องยืนยันจุดยืนขอบพรรค ว่าเราจะโหวตด้วยเหตุผล และหลักการอย่างไร ซึ่งจะไม่มีการปภิปรายที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีใดๆ ทั้งสิ้น พรรคการเมืองได้รับเสียงมาจากประชาชน และประชาชนก็ไดตรวจสอบคุณสมบัติของพรรคการเมือง นโยบาย และคุณสมบัติขอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อถามว่าจะมีการจัดสรรเวลาอย่างไรให้อยู่ภายใน 30 นาที นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า เป็นการพูดคุยกันในวิป ยังไม่ได้สรุประยะเวลาว่าจะใช้ครบ 30 นาที หรือไม่ ซึ่งเราจะมีการเผื่อเวลาไว้ในส่วนที่อาจจะมีการถูกพาดพิง แต่ก็หวังว่าจะไม่มีการพาดพิงหรือต่อว่าพรรคก้าวไกล เพราะในรอบนี้ไม่ใช่การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล
ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวถึงญัตติที่จะนำเสนอ ว่า ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าจะไม่ให้มีการลงมติ ในการทบทวนมติรัฐสภา กรณีเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ โดยได้ให้เหตุผล 2 ข้อ ว่า 1.คำว่า “เด็ดขาด” ตามข้อบังคับที่ 151 ประธานรัฐสภาตีความว่า เมื่อชี้ว่าเด็ดขาดแล้วจะเห็นเป็นอื่นไม่ได้ แต่ตนได้ทักท้วงไปแล้วว่า คำว่าเด็ดขาดไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว จะต้องเป็นต่อไปจนถึงกัลปาวสาน เพราะสุดท้ายเป็นอำนาจของที่ประชุมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นผู้ลงมติเอง หากเราพิจารณาอย่างรอบคอบก็มีคนทักท้วงจำนวนมาก ถ้าเราทำอะไรผิดพลาดไป แต่มาบอกว่าห้ามเปลี่ยนแปลง ตนคิดว่าสภาของเราคงอันตรายมาก เพราะในการทำงานก็มีโอกาสที่ตะเกิดความผิดพลาด ซึ่งเราควรมีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง
2.มีความพยายามตีความจากฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา ที่คิดไปไกลว่า การเสนอของเรามีจุดประสงค์ลึกๆ ว่าจะนำไปสู่การเสนอชื่อนายพิธา แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เป็นเรื่องของหลักการล้วนๆ เป็นเรื่องของการที่เราต้องการให้สภามีอำนาจในการแก้ไขความผิดพลาด แต่ไม่เป็นไร ไม่ว่าอย่างไรพรรคก้าวไกลก็ยังคงยืนยัน และมีความเป็นไปได้ว่าประธานรัฐสภาจะใช้อำนาจในการวินิจฉัย เพื่อไม่ให้มีการลงมติ ในการทบทวนญัตติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องมีการพูดคุยกันในสภาต่อไป เพราะในการประชุมวันนี้ ประธานรัฐสภาได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ซึ่งประธานรัฐสภาได้อ้างข้อกฎหมาย พรรคก้าวไกลก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่าเราอยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมายเช่นเดียวกัน หากเห็นไม่ต้องกัน ก็จะต้องมีการลงมติ แต่ประธานรัฐสภาไม่เปิดโอกาส แต่คงจะมีการพยายามพูดคุยในที่ประชุมใหญ่ต่อไป
เมื่อถามว่า หากเป็นญัตติที่ได้มีการรับรองถูกต้องแล้ว จะมีการแก้ไขได้อย่างไรบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ถ้าถูกต้องแล้วก็ไม่ต้องแก้ไข แต่ถ้าเป็นญัตติที่ไม่ถูกต้องถึงจะต้องแก้ไข ดังนั้น ความเป็นจริงหากเป็นญัตติที่ถูกต้อง อยู่ในระเบียบวาระ จะต้องเดินหน้าพิจารณาและลงมติ
เมื่อถามถึงญัตติของสว. ที่มีการนำเสนอค้างไว้ จะถูกหักลบกลบไปด้วยหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า จะต้องไปด้วยกัน มาด้วยกัน ไปด้วยกัน
เมื่อถามว่า จะมีการแก้เกมอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พยายามพูดคุยด้วยเหตุผล โดยเราได้เตรียมผู้อภิปรายไว้แล้ว 2-3 คน แต่หากอภิปรายด้วยเหตุผลได้แล้วมีการใช้เสียงข้างมากของที่ประชุมมาทำให้เราไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ เราคงทำอย่างเต็มที่ แต่ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
เมื่อถามว่า การร่วมรัฐบาลของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาล มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย หากเงื่อนไขของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ คงจะต้องถามพรรคเพื่อไทย ว่าตกลงจะเอาอย่างไร หรือเป็นหนึ่งในวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนน ไม่ได้เป็นคำสัญญาก็ตอบให้ชัด ในส่วนของพรรคก้าวไกลยืนยันว่า เรามีนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขของเราจะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ฉบับใหม่ และออกจากระบอบคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่การรัฐประหาร ในปี 2557 ดังนั้น พรรคก้าวไกลมีจำนวนสส. เพียงพอที่จะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขให้สำเร็จก็ต้องอาศัยเสียงส่วนอื่นๆ ทั้งจากรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสว. ซึ่งต้องพูดคุยกัน และคงใช้เวลาน่าดู
เมื่อถามว่า หากมี 2 ลุง อยู่ในสมการการจัดตั้งรัฐบาลโอกาสแก้รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นไปไม่ได้ นายรังสิมันต์ กล่าวยอมรับว่า ตนเองเป็นกังวล เพราะพรรคลุงค่อนข้างชัดเจนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีการแก้ไขก็อาจไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง แต่ท้ายที่สุด ต้องพูดคุย และหาทาง ซึ่ง หากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ เพราะมีนโยบายนี้ ทำไมถึงให้พรรคอื่นเป็นคนกำหนด ตอนนี้เรื่องยังไม่เกิด คงต้องให้โอกาสในการดำเนินการ พรรคเพื่อไทยได้ยืนยันหลายครั้งรวมถึงการได้มาพูดคุยกับพรรคก้าวไกล ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะยุบสภา จึงต้องให้โอกาสในการดำเนินการ
เมื่อถามว่ามีอะไรฝากไปถึงพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายรังสิมันต์ หัวเราะก่อนกล่าวว่า “คงไม่ต้องมีอะไรก็ได้มั้ง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง