วันที่ 20 ส.ค. 66 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” ระบุข้อความว่า การที่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า หากได้เป็นรัฐบาลและคนของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี วาระแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี จะเป็นการพิจารณาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นวาระแห่งชาติ และให้มี สสร. เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ
คำถามคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว จากที่ใช้บัตรลงคะแนน 1 ใบ มาเป็น 2 ใบ อย่างที่พรรคเพื่อไทยต้องการ สว.ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะสิ้นสภาพในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ต้องเลือกกันใหม่โดยวิธีใหม่ เพราะวิธีเดิมอยู่ในบทเฉพาะกาลก็สิ้นสภาพไปด้วยเมื่อครบ 5 ปี และจะไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป พรรคเพื่อไทยยังต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในประเด็นใดอีกบ้าง
การตั้งส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านประชามติของประชาชนมาแล้ว จึงจะต้องทำประชามติเพื่อถามประชาชนก่อนว่า จะต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อร่างเสร็จแล้วยังต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปผ่านการทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งการทำประชามติ 2 ครั้งต้องใช้งบประมาณครั้งละประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ส.ร.หากให้สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และค่าใช้จ่ายในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งหมดทั้งค่าทำประชามติด้วยจะเกินกว่าหมื่นล้านแน่นอน ใช้เงินมากขนาดนี้เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่ออะไร เพื่อประเทศชาติจริงหรือไม่ หรือเพื่อสนองความต้องการของตัวเองและพวกตัวเอง
หากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร.ไม่มีกรอบว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 และให้สสร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ย่อมเข้าทางพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลมีฐานเสียงในปัจจุบันมากพอที่จะส่งคนของพรรคให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสสร.เกือบทุกจังหวัด และถ้าเปิดกว้างให้เปลี่ยนแปลงได้ทุกหมวดทุกมาตรา จะต้องมีความพยายามแก้ไขหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน
จากเว็บไซด์ของประชาไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ใน face book เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดพระราชสถานะประมุขของรัฐ ศูนย์รวมจิตใจ และความเป็นกลางทางการเมือง
2. กำหนดพระราชอำนาจ ขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน
3. เปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์
4. ยกเลิกองคมนตรี
5. เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหกษัตริย์ การเสนอพระนามองค์รัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ
6. กำหนดให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญานตน(ในสภาผู้แทนราษฎร)ก่อนเข้ารับหน้าที่
7. กำหนดกรณีที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามีอำนาจให้ความเห็นชอบ
8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ
9. ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไดยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อ้นได้แก่ รัฐมนตรี ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
10. ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งในการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา