จากการออกมาเขย่าความน่าเชื่อถือในตัว เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ด้วยการ ” แฉเพื่อชาติ” ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โดยหยิบประเด็น “ความไม่โปร่งใส” เมื่อครั้งเป็นผู้บริหารบริษัทแสนสิริ ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดมหาชน มาเป็นธงในการชิงความได้เปรียบโดยการงัดเอาหลักฐาน การหลบเลี่ยงภาษี ของบริษัทแสนสิริ มาเป็น”หัวเชื้อ” ทำให้สถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอน สั่นคลอนไปด้วย เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อนายชูวิทย์ โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งข่าว
วันที่ 3 สิงหาคม 2566 การออกมาแฉเพื่อชาติของนายชูวิทย์ เริ่มต้นจากการโพสต์เฟซบุ๊ก โดยจั่วหัวระบุว่า “ว่าที่นายกฯ เลี่ยงภาษี” จากนั้นเวลา 12.30 น.นายชูวิทย์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมมีการนำหลักฐานการซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสิน เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ราคากว่า 1,570 ล้านบาท เมื่อปี 2562 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่
การแถลงครั้งนั้น นายชูวิทย์ อ้างว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าว มีราคาประเมินกันที่ ตารางวาละ 1 ล้านบาท แต่ราคาการซื้อขายจริงของบริษัทตารางวาละ 4 ล้านบาท มีการหลบเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้รัฐขาดรายได้ไปกว่า 521 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิติกรรมอำพราง มีการแบ่งโอนที่ดินทั้งแปลงเป็น 12 วัน และให้มีผู้ซื้อขาย 12 คน โดยมีหลักฐานการโอนที่ดิน ในวันทำการติดต่อกันทั้ง 12 วัน จากเดิมที่ต้องเสียภาษีหากโอนที่ดินในวันเดียวเป็นเงินกว่า 580 ล้านบาท แต่ทางบริษัทเสียภาษีที่ดินเป็นเงินเพียง 59 ล้านบาท เท่านั้น
นายชูวิทย์ อ้างว่า การโอนที่ดินในลักษณะนี้เป็นการเลี่ยงเสียภาษีในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน หรือคณะบุคคล เพราะต้องเสียจำนวนเงินมากกว่าการแยกจ่ายเป็น 12 วัน และยังเห็นว่ามีความผิดปกติในโฉนด ที่ระบุถึงเงินมัดจำค่าที่ดินแต่ละวันไม่ตรงกัน ส่วนใหญ่ใช้เงินสดมากกว่าร้อยละ 50 ในการวางมัดจำ ซึ่งเป็นเงินครั้งละกว่า 200 ล้านบาท มองว่าผิดปกติ เพราะเงินจำนวนมากขนาดนี้จะต้องจ่ายด้วยเช็ค แต่กลับจ่ายเป็นเงินสด
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานการประชุมของบริษัทแสนสิริ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ที่มีมติให้แยกโอนที่ดินรวม 12 วัน โดยมีการลงนามรับรองของนาย เศรษฐา ซึ่งบริษัทแสนสิริเป็นบริษัทมหาชน มีฝ่ายกฎหมายที่เชี่ยวชาญ จึงต้องรู้ช่องทางกฎหมายเป็นอย่างดี และเชื่อว่าหากนายเศรษฐาได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน
นายชูวิทย์ ยังบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้บริษัทแสนสิริ เคยมาติดต่อซื้อที่ดินของชูวิทย์ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท แต่ตนไม่ขายให้ เนื่องจากติดสัญญาซื้อขายกับบริษัทอื่นอยู่ คือบริษัทไดมอนด์แลนด์ และได้ขายไปให้กับบริษัทดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
วันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายชูวิทย์ แถลงข่าวอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ นำหลักฐานที่เป็นเอกสารที่เกี่ยวกับตัวบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่ซื้อที่ดิน ย่านทองหล่อ ซอย 12 มูลค่าหลายร้อยล้านบาท เป็นเพียงแม่บ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทบริษัท แห่งหนึ่ง (เอ็นแอนด์เอ็น แอสเซ็ท จำกัด) นำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินย่านทองหล่อ กับธนาคาร (แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ) จำนวน 465 ล้านบาท
และพบปรากฏชื่อผู้รับจำนองต่อเป็นบริษัทอีกบริษัทหนึ่ง (บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด) ที่มีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัท ซึ่งนายชูวิทย์ อ้างว่าเป็นบริษัทนอมินีในเครือนายเศรษฐา และพบว่ามีการทำสัญญากู้จำนวน 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้อที่ดินต่อจากบริษัทที่มีแม่บ้านถือหุ้นอยู่ จำนวน 565 ล้านบาท
และต่อมาพบว่าบริษัทใหญ่ที่นายเศรษฐา เป็นกรรมการบริษัท ได้ซื้อที่ดินต่อจากบริษัทนอมินี เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท ทำให้มีส่วนต่างจากเงินที่ซื้อขายจริง เป็นจำนวน 435 ล้านบาท
นายชูวิทย์ จึงตั้งข้อสงสัยว่าเงินจำนวนนี้หายไปไหน การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการฉ้อโกงผู้ถือหุ้นหรือไม่ และมีคุณสมบัติเพียงพอต่อหารที่จะถูกเลือกให้เป็นนายกคนต่อไปหรือไม่
ในวันเดียวกัน(15 สิงหาคม 2566) บริษัทแสนสิริ ได้ออกแถลงการณ์ ตอบโต้นายชูวิทย์ ด้วยบริษัท แสนสิริ ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงความถูกต้องการซื้อที่ดินทองหล่อ โดยสรุป 3 ประเด็น ดังนี้
– แสนสิริ และบริษัทลูกของแสนสิริ ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับ บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ขายและเจ้าของที่ดินตามโฉนด ตั้งแต่ปี 2551
– แสนสิริซื้อที่ดินในราคาที่เหมาะสมเทียบเคียงกับราคาตลาด โดยระบุถึงทำเล ทองหล่อ 12 ราคาขาย 1,100,000 ตารางวา ในปี 2559
– บริษัท อาณาวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแสนสิริ ไม่เคยให้กู้ยืมเงิน แก่ บริษัท เอ็น แอนด์ เอ็น แอสเซ็ท จำกัด “กู้ยืมเงิน ไม่เท่ากับ จำนองโฉนดที่ดินโดยมีหลักประกัน”