รัฐสภา วันนี้ ( 22 ส.ค.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ของกรรมาธิการการเมืองฯ ก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ว่าเป็นการตรวจสอบตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้มายื่นในส่วนที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้มีการแถลงตั้งแต่ครั้งแรก เป็นเรื่องของเอกสารโฉนดที่ดินและสัญญาต่างๆ และดูลำดับการได้มาซึ่งที่ดิน ซึ่งจะไปอภิปรายในสภาให้เข้าใจ แต่ตนเห็นว่าเนื้อหาจริงๆ อยู่ที่การแถลงของนายชูวิทย์ครั้งที่สองและครั้งที่สาม ซึ่งชัดเจนและมีความสำคัญ
เมื่อถามถึงข่าวที่ระบุว่าขณะนี้จำนวนเสียงของ ส.ว. ที่จะโหวตนายกฯได้ครบแล้ว นายเสรี กล่าวว่า ไม่ทราบเลย แต่เมื่อถามต่อว่าถ้าการตรวจสอบคุณสมบัติไม่เสร็จสิ้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.หรือไม่ ก็เป็นส่วนที่เค้าเสนอมา ก็ดูว่ามีปัญหาในส่วนไหน ถ้าหากเป็นส่วนเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ หรือเรื่องจริยธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ก็ว่ากันในสภา ที่จะตรวจต่อไปก็คือเรื่องที่เขาไปยื่นกันไว้ เรื่องภาษี เรื่องความถูกต้องของเอกสารซึ่งนายชูวิทย์ก็ได้ไปยื่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว สำหรับส่วนตัวตัดสินใจแล้ว แต่ขอไปฟังการชี้แจงในสภาอีกครั้ง
เมื่อถามว่าขณะนี้นายเศรษฐาควรสบายใจได้แล้วหรือยัง สำหรับเสียงของ ส.ว. ซึ่งน่าจะดี นายเสรี กล่าวว่า คะแนนส่วนใหญ่อยู่ที่แต่ละบุคคล ถ้าพูดกันตามเนื้อผ้า ซึ่งแต่ละบุคคลก็ มีข้อมูลที่ได้รับมา คงไปตัดสินใจในที่ประชุม ถ้ามีเรื่องค้างคาข้อสงสัยก็ไปฟังดู ว่าพรรคเพื่อไทยที่จะมาตอบแทนนายเศรษฐาจะตอบได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตนคิดว่าทุกคนก็พร้อมจะพิจารณาเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่านายเศรษฐาจะเปลี่ยนใจมาชี้แจงหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ก็สามารถมาชี้แจงได้ แต่จะชี้แจงได้หรือไม่ แม้ว่าข้อบังคับในรัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดในเรื่องเหล่านี้ไว้ แต่ก็เป็นเรื่องทั่วไปของการพิจารณาในสภา ที่สามารถขออนุญาตประธานมาชี้แจงในสภา อยู่ที่ว่าสมัครใจจะมาหรือไม่ แต่ตนคิดว่า คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าช่วงนี้มีคำถามมาก ถ้ามาชี้แจงและตอบข้อซักถามได้ น่าจะเป็นประโยชน์กับตัวเองมากกว่า แทนที่จะไม่มาตอบและครอบคลุมเครือ กลายเป็นปัญหาเรื่องการตัดสินใจ ถ้ามาก็ดีที่สุด แต่ก็เป็นเรื่องความสมัครใจ ไปบังคับไม่ได้
ส่วนคุณสมบัติของนายเศรษฐาดีพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่าจากการที่ฟังนายชูวิทย์สองครั้งสุดท้าย ก็มีคำถามจำนวนมาก ซึ่งควรจะมีความชัดเจน เพราะการไปทำหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ บริหารประเทศ และไปเทียบกับการบริหารหน่วยงานที่เป็นบริษัทมหาชน ซึ่งเป็นของประชาชนแล้วมีการเสนอข้อมูลต่างๆที่ควรตอบให้กระจ่าง อย่างน้อยก็เพื่อความชัดเจน และเป็นที่ยอมรับ จะได้หมดข้อครหาในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งก็แล้วแต่นายเศรษฐาจะพิจารณา
เมื่อถามว่า ส.ว.มีเวลาตรวจสอบคุณสมบัติของนายเศรษฐา ทันเวลาหรือไม่ เมื่อเทียบกับนายพิธา เจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล เพราะเปิดตัวแบบกระชั้นชิด นายเสรี กล่าวว่าไม่มีปัญหา เพราะมีข้อมูลปรากฏต่อสาธารณะส่วนหนึ่ง อีกส่วนพรรคเพื่อไทยก็พยายามปรับตัว สังเกตได้จากเนื้อหาที่แถลงนโยบาย เช่น ตัดปัญหาเรื่อง มาตรา 112 ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่กระทบต่อสถาบัน ก็เห็นความพยายามตั้งใจที่จะลดปัญหา ซึ่งปัญหาของนายเศรษฐาและนายพิธาไม่เหมือนกัน ของนายเศรษฐาเป็นเรื่องข้อมูลเดิมๆ ที่เคยกระทำการใดๆ มาแล้ว และถูกตรวจสอบ ว่าซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ หรือขาดจริยธรรมอย่างไร ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่ไม่เหมือนกับนายพิธาเสียทีเดียว