23 ส.ค.66. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่ 16 ส.สของพรรคโหวตสวนมติพรรคว่า ก็ต้องดูกรณีนี้หากเป็นการดำเนินการปฏิบัติที่ทำให้พรรคเสื่อมเสียหรือไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณพรรคก่อให้เกิดความแตกแยกก็เป็นสิทธิ์ของสมาชิก 20 คนจะเข้าชื่อตั้งกรรมการสอบสวนว่าพฤติการณ์ที่ทำมีความเสื่อมเสียแก่พรรคหรือไม่อย่างไรซึ่งขณะนี้ก็มีสมาชิกหลายคนถึงแม้จะเป็นสส.ที่มีพฤติกรรมแบบนี้จะต้องทำหนังสือไปถึงหัวหน้าพรรคเพื่อตั้งกรรมการสอบสวนเพราะมีความชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีการตั้งกรรมการเจรจาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาลการจะเข้าร่วมรัฐบาลจะต้องมีการเรียนเชิญหรือมีหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการจากพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลฉะนั้นการดำเนินการมีขั้นตอนอยู่ ดังนั้นหากใครที่เป็นรักษาการหรือสส.ที่ไม่ใช่ตำแหน่งโดยตรงและไม่ได้รับมอบหมายจากกรรมการบริหารพรรค ถ้าไปปฏิบัติในสิ่งที่เกินอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติแล้วทำให้พรรคเกิดความเสื่อมเสีย โดยระบบต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านไปแล้ว และมีการประกาศจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรคไปแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงต้องไปจัดการภายในพรรค
สื่อถามว่าแล้วใครจะเป็นผู้จัดการเพราะส่วนใหญ่ที่โหวตเห็นชอบพรรคเพื่อไทยเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด นายสาธิต กล่าวว่า ต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรคที่เขียนไว้ว่าใครมีสิทธิ์ทำอะไร เช่นสมาชิกพรรคที่เห็นว่าความประพฤติของสมาชิกบางคนเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่สิงคโปร์ ตอนแรกยืนยันว่าไม่ได้ไปพบ แต่กลับมาให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ยอมรับว่าไป ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายกับพรรคพฤติกรรมแบบนี้เข้าข่ายในแง่ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมและสร้างผลกระทบต่อให้พรรคให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้การโหวตเป็นเอกสิทธิ์สส.ก็จริง แต่มติสส.ที่ประชุมก็มีความสำคัญอาจจะไม่ผิดในแง่จริยธรรมสส.แต่ผิดในแง่ทำให้พรรคเสื่อมเสียซึ่งเป็นสิทธิ์ตามขั้นตอนข้อบังคับที่เขียนไว้ตามกฎหมายพรรคการเมือง