“กองทุนพัฒนาสื่อฯ” จัดเสวนารู้ทันข่าวลวง รุกสังคมออนไลน์ปรับตัวหยุด Fake News

กองทุนพัฒนาสื่อฯ จัดเสวนาสถานการณ์ข่าวลวงฯ ชวนผู้ผลิตสื่อระดมความคิด Thai Fact - Checking Network รณรงค์ตรวจสอบข้อเท็จจริงสร้างภูมิต้านทานให้สังคม หวังสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเสวนาวิชาการและแถลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง (Thai Fact – Checking Network) พร้อมรับฟังสถานการณ์ข่าวลวง และข้อมูลบิดเบือนในปัจจุบัน และความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประธานเปิดงาน

 

 

ดร.ธนกร ระบุว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นิยมบริโภคข่าวสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรือไลน์ มากขึ้น สื่อมวลชนกระแสหลักจึงต้องยิ่งปรับตัวเพื่อแข่งขันให้เท่าทันกับสื่อสังคมออนไลน์ อีกทั้ง ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับความรวดเร็วในการเปิดรับ และส่งต่อข่าวสารนั้น คือเรื่องของคุณภาพและความถูกต้อง อันเป็นช่องว่างในการแพร่กระจายของข่าวลวง (Fake News) ในปัจจุบัน

 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้มีความพยายามในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวสาร ทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และภาคสังคม อาทิ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย, ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยสำนักข่าวไทย , Co-Fact ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติอย่างเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network หรือ IFCN) รวมถึงความพยายามในการบริหารจัดการกับข่าวปลอมจากเจ้าของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละภาคส่วนล้วนมีจุดแข็งและความถนัดในการทำงานที่แตกต่างกัน รวมถึงอาจยังมีช่องว่างในการทำงาน ที่ต้องการกลไกในการช่วยเชื่อมร้อย บูรณาการ และสนับสนุน

 

 

ดร.ธนกร ระบุว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คือ การส่งเสริมและสนับสนุน ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของสังคม ให้มีการศึกษาวิจัย อบรม พัฒนาองค์ความรู้และการสร้างนวัตกรรมด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเชื่อมร้อยภาคีเครือข่าย และกลไกตรวจสอบข่าวปลอมจากภาคส่วนต่างๆ โดยเห็นควรให้มีการดำเนินโครงการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

 

 

 

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับปัญหาข่าวปลอม ผ่านการศึกษาตามหลักวิชาการ และการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในแต่ละภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดึงศักยภาพการทำงานของหน่วยงานภาคีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พร้อมบูรณาการแนวทางการทำงานของแต่ละภาคส่วนร่วมกัน เชื่อว่างานเสวนาครั้งนี้จะช่วยบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข่ายข้อเท็จจริง (Thai Fact – Checking Network) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทุกข้อคิดเห็น ทุกข้อเสนอ มีคุณค่าและความสำคัญต่อการมุ่งมั่นทำหน้าที่ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

 

 

 

ด้านนายสเตฟาน เดลโฟร์ หัวหน้าสำนักข่าว Agence France-Presse (เอเอฟพี) ประจำกรุงเทพ ประเทศไทย กล่าวระหว่างการเสวนา “สถานการณ์ข่าวลวงในปัจจุบัน และความสำคัญของการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน” ว่า ตั้งแต่ปี 2563 เอเอฟพี ได้มีความร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อฯ โดยเผยแพร่หลักสูตรในการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนด้วยเทคนิคเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ โดยในปีนี้ จะมีหลักสูตรในการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน ทั้งในระดับต้น หลักสูตรสำหรับบรรณาธิการข่าว และสื่อมวลชน ที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับหรือ ตรวจสอบข้อมูลบิดเบือน จากองค์ความรู้ของ เอเอฟพี ซึ่งภูมิใจที่ได้ส่งเสริมนิเวศน์สื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ในประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์ของข้อมูลบิดเบือนหรือข่าวปลอมในโลก พบว่า สถานการณ์ได้เลวร้ายลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหลายภาคส่วน รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มด้านดิจิทัลก็ตระหนักถึงปัญหาและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่แพร่หลายในขณะนี้ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางดิจิทัลถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสื่อแบบดั้งเดิมไป

 

 

 

โดยก่อนหน้านี้การพัฒนาดิจิทัล สื่อฯได้มีการแยกช่องทางการทำงานที่ชัดเจน ทั้งการออกอากาศ สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละส่วนก็จะมีอุตสาหกรรมที่แยกออกจากกัน แต่ในปัจจุบันสื่อต่างๆ ได้เข้ามาแข่งขันในแพลตฟอร์มเดียวกันคือแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงยังมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ให้บริการออนไลน์อย่างเดียว รวมถึงการแข่งขันกันระหว่างสื่อมวลชน ซึ่งเดิมไม่เคยเป็นคู่แข่งในการแย่งเวลาไม่ว่าจะเป็นสื่อเกมส์ พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ

นายสเตฟาน ระบุว่า ในปัจจุบันสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสาร ก็จะมีการแข่งขันกันมากขึ้นเพราะสื่อข่าวไม่ดึงดูดผู้ชมผู้ฟังในช่องทางออนไลน์จึงต้องมีการแข่งขันเพื่อให้มียอดวิว ยอดคลิก เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมุมมองของประชาชนที่มองว่าสื่อถูกควบคุม หรือถูกครอบงำ โดยกลุ่มผู้ทรงอำนาจพรรคการเมือง และกลุ่มทุนต่างๆ ทำให้ความมั่นใจและความเชื่อถือในสื่อลดลง ซึ่งได้สร้างปัญหาจากการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้การรักษาไว้ซึ่งจริยธรรมของสื่อที่มีต้นทุนการดำเนินการค่อนข้างสูงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

อย่างไรก็ตาม จากผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดทำให้ปัญหาข่าวปลอม ข้อมูลบิดเบือน หรือโฆษณาชวนเชื่อมีการเผยแพร่ไปอย่างมากและไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ และสิ่งที่เอเอฟพีได้พัฒนาในช่วงที่ผ่านมาคือการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลจึงหวังว่าการทำงานที่เป็นกลางของเอเอฟพีจะแก้ไขความขัดแย้งการแบ่งขั้วกับการแบ่งแยกในสังคมได้ และเอเอฟพีเชื่อว่าการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนจะสามารถสร้างให้ผู้ชมผู้ฟังกลับมาเชื่อถือในสื่อมวลชนอีกครั้ง

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

หัวหน้าสำนักข่าวเอเอฟพี ประจำกรุงเทพฯ ระบุว่า ทางเอเอฟพี มีความเชื่อว่าการเป็นสื่อมวลชนที่ดี คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการเผยแพร่ ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นการตรวจสอบระบบข้อเท็จจริงทางดิจิทัล โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่เพียงหนึ่งคน จนพัฒนามีเจ้าหน้าที่มากกว่า 140 คน และมีการตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนใน 82 ประเทศ ครอบคลุม 26 ภาษาทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ เอเอฟพีได้ทำงานร่วมกับ แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ เมตา , TikTok , X พร้อมแสดงตัวอย่างของข้อมูลบิดเบือน ข่าวปลอม ที่ผลิตโดยหมอประมาณ 50 คน แต่เข้าถึงประชาชนได้หลายล้านคน และในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ ถูกเผยแพร่อย่างบิดเบือน เนื่องจากว่าการผลิตข่าวปลอมหรือข้อมูลบิดเบือนสามารถทำได้ง่าย และเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว

อีกทั้งปัจจุบันมีการนำเอาเทคโนโลยี ai หรือปัญญาประดิษฐ์ ของบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ โดยการตกแต่งภาพและสร้างข่าวปลอมขึ้นเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อ รวมถึงสิ่งที่พบในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย คือการใช้ประทุษวาจามากขึ้น รวมถึงมีการเปลี่ยนรูปแบบเงื่อนไขการยืนยันตัวตน หรือบลูเช็ค จากเดิมที่บลูเช็ค เป็นเครื่องการันตีในเครือข่ายสังคมออนไลน์ว่าผู้ใช้แอคเคาท์ดังกล่าวเป็นตัวจริง แต่ปัจจุบันเครื่องหมายดังกล่าวไม่สามารถเป็นการแสดงตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งานได้ ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์มีการเปลี่ยนเงื่อนไขผู้ใช้งานเพื่อทำให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายสามารถเข้าถึงผู้แพร่ข่าวปลอมและสร้างข้อมูลบิดเบือนได้มากขึ้น และแชร์ส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นได้มากขึ้น

 

ทางเอเอฟพี จึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้และเทคนิคในการตรวจสอบข่าวกรองให้สื่อมวลชน และเชื่อว่าทุกสำนักข่าวมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ชมผู้ฟังขององค์กรตนเอง โดยต้องหาทางสร้างความสัมพันธ์การเข้าถึงกลุ่มผู้ชมผู้ฟังในช่วงอายุน้อย โดยส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีความโปร่งใส และเชื่อว่า ด้วยเทคนิคการตรวจสอบ ทั้งการค้นหาตำแหน่งของภาพในแผนที่ดิจิทัล การตรวจสอบภาพย้อนกลับ เทคนิคเหล่านี้จะเป็นเทคนิคที่ช่วยเสริมสร้างความโปร่งใสในการรายงานข่าว และเชื่อว่าจะช่วยให้ตรวจสอบแหล่งข่าวข้อมูลบนโลกออนไลน์รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง

และสำหรับในโลกยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลบิดเบือนจำนวนมาก ผู้ตรวจสอบคัดกรอง ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเลือกอย่างไรว่าจะทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากโพสต์ไหน สามารถพิจารณาจาก 2 ปัจจัย คือ โพสต์นั้นมีผลกระทบวงกว้างมากแค่ไหนและ มีโอกาสสร้างความเสียหายได้มากแค่ไหน แต่หากเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปไมยการตรวจสอบข้อเท็จจริงเปรียบเสมือนการพยายามทำความสะอาดแม่น้ำที่มีมลภาวะด้วยช้อนชา แต่ก็ต้องมีคนที่ต้องทำหน้าที่เหล่านั้นซึ่งก็คือ สื่อมวลชน

 

 

 

ทั้งนี้ ภายในงานฯ ได้มีการรายงานผลการศึกษา “แนวทางการทำงาน และออกแบบระบบสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อบูรณาการและเสริมพลังภาคีเครือข่ายหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง” จาก 2 สถาบันชั้นนำ คือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

รวมถึง มีการเสวนา “ถอดบทเรียนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย สู่การสร้างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย” โดย กุลธิดา สามะพุทธิ Fact checker ประจำกองบรรณาธิการ Co-Fact ประเทศไทย , พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท. ,ดร.สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อํานวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

 

ในช่วงท้าย ดร.ชำนาญ กล่าวสรุปว่า ปัจจุบัน ปัญหาข้อมูลบิดเบือนเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่อคนเป็นวงกว้าง จึงได้รวบรวมพันธมิตรเพื่อมาทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้ง Co-Fact ประเทศไทย ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ร่วมกับกองทุนฯ ในการหารือถึงแนวทางความร่วมมือ การเสนองานวิจัย การตรวจสอบข้อมูลบิดเบือนในประเทศไทย ซึ่งปัญหาเหล่านี้รุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มุ่งเน้นความสำคัญในการการศึกษาวิเคราะห์สื่อในประเด็นที่สำคัญหรือเป็นที่สนใจของสังคม ด้วยหลักวิชาการที่เชื่อถือได้แล้วยังมีการทำงานศึกษาวิจัยร่วมกับภาคีต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์และความสนใจในประเด็นสื่อเพื่อบูรณาการและเสริมพลังการทำงานของเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมไปถึงผลการศึกษาที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อรายงาน เผยแพร่ผ่านช่องทางการสื่อสารของกองทุนพัฒนาสื่อฯ

 

 

ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะนำความคิดเห็นของผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการทำงานและการรายงานผลงานต่อสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่า เราทุกคนมีส่วนในการร่วมสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"เนาวรัตน์" ร่ายกลอน เตือนอำนาจนอกกม.ไม่มีใครรวยด้วยการพนัน
สถานการณ์น่าห่วง "กทม." จมฝุ่นพิษ แดงเข้ม 6 พื้นที่ ส่งผลต่อสุขภาพ
ศาลสั่งจำคุก "ทนายเดชา" 1 ปี ปรับ 6 หมื่น คดีหมิ่นประมาท "อ.อ๊อด"
สลด สาวขับเบนซ์พุ่งชน จยย.กระเด็นเสียชีวิต 2 ราย กลางถนนเสนานิคม-จตุจักร
รัฐบาลเตือนมิจฉาชีพอ้างเป็น “กรมบัญชีกลาง” ลวงดูดเงินประชาชน
สายสีแดง ชวนเที่ยวแลนด์มาร์คแห่งใหม่ สูดอากาศบริสุทธิ์ สะดวก เดินทางง่าย ติดรถไฟฟ้า
“สาวไทย” โคตรแสบ! ช่วยแฟนผิวสีขนโคเคนเข้าเมือง โดนชาร์จคา ตม.สระแก้ว
‘ผอ.อผศ.’ จัดกิจกรรม นักรบ พบ รด. ปลุกจิตสำนึกเยาวชนต่อความเสียสละของทหารผ่านศึก
ผบช.น. สั่งเอาผิดขั้นเด็ดขาด เก๋งหัวร้อนพุ่งชนไรเดอร์ดับ แจ้ง 2 ข้อหาหนัก-ค้านประกันตัว
"ปอศ.-สรรพสามิต" บุกยึดบุหรี่เถื่อน ลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น