สืบเนื่องจากกรณีที่มีรายงานความคืบหน้าการจัดตั้ง ครม.เศรษฐา 1 ซึ่งโผอัปเดตล่าสุด ปรากฏว่ามีชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความประจำตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและนักโทษ จะได้รับเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการที่มีชื่อของนายพิชิตในโผ ครม.เศรษฐา 1 ได้สร้างความกังขาให้สังคมมากพอสมควร โดยต่างตั้งคำถามว่าเจ้าตัวมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะพฤติกรรมในอดีต ดังนี้
– นายพิชิต ได้รับความไว้วางใจจากนายทักษิณ ชินวัตร ให้เป็นหัวหน้าทีมทนายความต่อสู้คดีต่าง ๆ ให้แก่ครอบครัวชินวัตร ตั้งแต่พรรคไทยรักไทยถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549
– นายพิชิตเป็นหัวหน้าทีมทนายความของนายทักษิณต่อสู้คดีที่ดินรัชดา และตกเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั้งประเทศ เมื่อนายพิชิตกับพวก ประกอบด้วยนางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ เสมียนทนายความ และนายธนา ตันศิริ ผู้ประสานงานทีมทนายความ นายทักษิณ ได้หิ้วถุงขนมใส่เงินสด 2 ล้านบาท ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ธุรการศาล เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ก่อนการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ ของศาลฎีกาคดีแผนกอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สุดท้ายคดีนี้ศาลมีคำสั่งจำคุกนายพิชิตกับพวกคนละ 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล ขณะที่สภาทนายความได้ลงโทษนายพิชิตด้วยการถอนใบประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้นายพิชิตถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ส่วนคดีที่ดินรัชดา นายทักษิณถูกศาลจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
– หลังพ้นมลทิน นายพิชิตได้รับการตบรางวัลให้เป็น สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และต่อมายังได้รับความไว้ใจจากตระกูลชินวัตร ให้เป็นหัวหน้าทีมทนายความในคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ถูกเอาผิดฐานละเลยปัญหาทุจริตจำนำข้าว แต่ท้ายที่สุดนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา จนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ
– แม้จะทำคดีตระกูลชินแพ้ราบคาบ จนนายใหญ่และนายหญิงต้องหนีไปต่างประเทศ แต่ในการเลือกตั้ง ปี 2562 นายพิชิตยังได้รับมอบหมายจากนายใหญ่ให้ไปทำหน้าที่หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายกฏหมายของพรรคไทยรักษาชาติ ตามยุทธการแตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย แต่ด้วยการกระทำที่ไม่บังควร ทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค ส่วนนายพิชิตรอด เพราะไม่ได้มีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค
ทั้งนี้การที่นายพิชิตเคยถูกศาลตัดสินจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล และต้องไปชดใช้กรรมในเรือนจำ จึงเกิดคำถามว่านายพิชิตมีคุณสมบัติต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะเคยต้องพิพากษาจำคุก จากการตรวจสอบข้อกฎหมายกับแหล่งข่าวระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม ได้ให้ข้อมูลกับทีมข่าวท็อปนิวส์ว่า คณะกรรมการกฤษฏีกาเคยให้ความเห็นว่าการจำคุกคดีละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่การจำคุกตามประมวลกฏหมายอาญา แต่เป็นโทษพิเศษที่บัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล จึงเป็นเรื่องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ได้เป็นความผิดทางอาญา ดังนั้นไม่ได้เป็นการถูกจำคุกตามกฏหมายอาญา ส่วนการเอาผิดนายพิชิตในทางอาญาฐานให้สินบนศาล คดีนี้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เรื่องไม่ถึงศาล ซึ่งหากนายพิชิตถูกจำคุกคดีให้สินบน จะขาดคุณสมบัติแน่นอน